คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2487

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ใดจำหน่ายยาสูบในเขตต์จำหน่ายยาสูบโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิด
ผู้จำหน่ายยาสูบเกินราคาที่อธิบดีสรรพสามิตต์กำหนดไม่ว่าในเขตต์หรือนอกเขตต์จำหน่ายยาสูบมีความผิด แต่มีผิดฉะเพาะผู้ขายเป็นการค้า
ฟ้องว่าจำหน่ายยาสูบในเขตต์จำหน่ายยาสูบโดยไม่ได้รับอนุญาต+ประกาศกำหนดเขตต์ยาสูบผิดไป ไม่เป็นเหตุยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจจำหน่ายยาซิกาแรต ๑ ซอง โดยไม่มีใบอนุญาตให้จำเลย และจำหน่ายเกินราคาที่อธิบดีกรมสรรพสามิตต์กำหนด ขอให้ลงโทษ
จำเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีผิดฐานจำหน่ายยาสูบในเขตต์ยาสูบโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ และ ๓๙ส่วนการจำหน่ายเกินราคาจะต้องเป็นผู้มีสิทธิจำหน่ายยาสูบโดยชอบ จำเลยจึงไม่มีผิดฐานนี้
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับการจำหน่ายยาสูบโดยมิได้รับอนุญาตนั้น แม้โจทก์อ้างประกาศรัฐมนตรีลงวันที่มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นการอ้างอิง เพราะประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกำหนดเขตต์ยาสูบตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.๒๔๘๖ ที่โจทก์อ้างขอให้ลงโทษนั้น ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ก็ดี แต่อย่างไรก็ดีการกระทำของจำเลยอยู่ในเขตต์จำหน่ายยาสูบหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยรับสารภาพแล้ว จึงลงโทษตาม ม.๑๗ ได้ข้อหาฐานนี้จึงยุตติ
ส่วนการจำหน่ายเกินราคานั้นเห็นว่าตามรูปการควบคุมจำหน่ายยาสูบแบ่งพื้นที่ควบคุมเป็น ๒ ชนิด คือ เขตต์จำหน่ายยาสูบชนิด ๑ นอกเขตต์อีกชนิด ๑ ภายในเขตต์จำหน่ายยาสูบผู้ใดจะจำหน่ายยาสูบต้องได้รับอนุญาต นอกเขตต์ไม่ต้องรับอนุญาต มาตรา ๑๘ กำหนดวิธีการและข้อห้ามไว้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการจำหน่ายยาสูบในเขตต์จำหน่ายยาสูบแต่มาตรา ๑๙ มิได้กล่าวถึงเรื่องเขตต์พื้นที่ จึงต้องหมายถึงพื้นที่ทั้งสองชนิด แต่ ม.๑๙ ใช้คำว่าผู้ทำการจำหน่ายยาสูบซึ่งหมายความว่าบุคคลผู้ทำกิจการขายยาสูบให้แก่ผู้บริโภคโดยทั่ว ๆ ไป คือผู้ขายยาสูบเป็นการค้านั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้จากกฎกระทรวงคลังข้อ ๒ ซึ่งเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฉะเพาะผู้ขายยาสูบจำนวนมากแก่ผู้บริโภค แต่ฟ้องมิได้บรรยายว่าจำเลยเป็นผู้ทำการจำหน่ายยาสูบ จึงลงโทษฐานนี้ไม่ได้ พิพากษายืนตามศาลล่าง

Share