คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากไม่เคยได้รับหมายและไม่เคยแต่งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 2 เป็นลายมือชื่อปลอมโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวนั้นต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องล่วงเลยเวลา 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยทั้งสองยอมชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 655,392.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 496,663.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระแก่โจทก์ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 11,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2541 และจำเลยทั้งสองยอมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความอีก 2,000 บาท ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2540 หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ท้นทีโดยยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 21 มกราคม 2540
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาใดๆ กับโจทก์ เอกสารที่เกี่ยวกับการจำนองเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากไม่เคยได้รับหมายและไม่เคยแต่งทนายความให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาใดๆ ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในใบแต่งทนายความเป็นลายมือชื่อปลอมซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมขึ้น จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องดังกล่าวหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิและเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล กระบวนพิจารณาในคดีนี้นับตั้งแต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาใดๆ กับโจทก์เอกสารที่เกี่ยวกับการจำนองเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากไม่เคยได้รับหมายและไม่เคยแต่งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 2 เป็นลายมือชื่อปลอมโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิและเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม กระบวนพิจารณาคดีนี้นับตั้งแต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวนั้น หากความจริงเป็นดังที่จำเลยที่ 2 อ้างย่อมถือได้ว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบคำร้องของจำเลยที่ 2 จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในกรณีเช่นว่านี้คู่ความฝ่ายที่เสียหายชอบที่จะยกขึ้นซึ่งข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นภานในแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 อ้างว่าทราบเรื่องภายหลังจากคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิและเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลยดำที่ 728/2542 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งในคำฟ้องคดีดังกล่าวระบุว่า จำเลยที่ 1 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2541 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์ อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนที่จะมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เป็นอย่างช้า การที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่จำเลยที่ 2 ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share