คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18196/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก จึงเป็นผู้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของกองมรดกที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาด การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่ผู้ร้องจะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อมีการบังคับคดีโดยนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อน ทั้งบุริมสิทธิของผู้ร้องไม่ปรากฏทางทะเบียน ดังนี้ ผู้ร้องย่อมสามารถร้องขอให้บังคับตามสิทธิของตนได้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 318 ถึง 321

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 8,928,897.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 ตุลาคม 2539) ต้องไม่เกิน 385,777.30 บาท โดยให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ร่วมกันรับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโฉนดเลขที่ 44108 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 133576, 214652 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์มรดกของนายกมล ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 133576 และ 214652 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ของนายกมล ออกขายทอดตลาด และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 133576 และ 214652 จำนวน 5,116,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยื่นคำคัดค้านว่า คดีผู้ร้องขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ชำระหนี้แทนไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 133576 และ 214652 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ภายหลังจากชำระหนี้แก่โจทก์แล้วชำระแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 5,116,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2552 เป็นต้นไปจนถึงวันชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายกมล เป็นหนี้โจทก์โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 133576 และ 214652 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน หลังจากนายกมลถึงแก่ความตาย ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายกมล ในระหว่างที่ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายกมล ผู้ร้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 133576 และ 214652 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนายสุภัค โดยได้รับเงินมัดจำ 5,000,000 บาท ผู้ร้องนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีโจทก์เพื่อลดยอดหนี้ที่นายกมล ค้างชำระ ต่อมาผู้ร้องไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายสุภัคได้ นายสุภัคจึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและขอเงินมัดจำคืนพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายตามสัญญา ผู้ร้องจึงนำเงินส่วนตัวจำนวน 5,116,666 บาท ชำระคืนให้แก่นายสุภัค ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2542 โจทก์ในฐานะผู้จำนองนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 133576 และ 214652 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้เพื่อกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวนำมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง
ที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยการยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้
ที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกาว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับนายสุภัค มีการกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ไว้ แต่เมื่อถึงวันนัดปรากฏว่านายสุภัคไม่มารับโอนและชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องริบเงินมัดจำ แต่ผู้ร้องกลับไม่ดำเนินการและนำเงินส่วนตัวไปชำระให้แก่นายสุภัค เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันของกองมรดกนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ไม่ได้ให้การไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกาว่า ผู้ร้องนำเงินชำระคืนให้แก่นายสุภัคเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 แต่กลับไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ชำระเงินแทนไป สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงขาดอายุความและล่วงเลยกำหนดระยะเวลาบังคับคดีนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของกองมรดกที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาด การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อมีการบังคับคดีโดยนำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งบุริมสิทธิของผู้ร้องไม่ปรากฏในทางทะเบียน ผู้ร้องย่อมสามารถร้องขอให้บังคับตามสิทธิของตนได้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 318 ถึง 321 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องบังคับคดีเกินกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share