คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยในระหว่างใช้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯ 2489 และโจทก์มาฟ้องคดีก่อนใช้ พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่า ฯ 2490 คดีจึงตกอยู่ในบังคับมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ 2490 ต้องใช้ พ.ร.บ.ฉะบับนี้บังคับ
การที่จะวินิจฉัยว่าเป็น “เคหะ” ตามความหมายใน พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ 2490 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่กรณีเวลาทำสัญญากัน ประกอบกับเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ รวมกันว่าการเช่าสิ่งปลูกสร้างนั้น เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือมิใช่ การที่ผู้เช่าอยู่ในที่เช่าจะต้องพิจารณาด้วยว่า การอยู่-อยู่ในฐานะอย่างใด
(อ้างฎีกา 1099/2491, 1147/2491)
กับมีคดีและข้อวินิจฉัยอย่างเดียวกัน คือ
คดีดำที่ 665/91 ฎีกาที่ /92
คดีดำที่ 666/91 ฎีกาที่ /92
คดีดำที่ 668/91 ฎีกาที่ /92

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าโดยอ้างว่าจำเลยเช่าทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมออก จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๘๖ ชั้นพิจารณาคู่ความรับกันว่า การเช่ารายนี้จำเลยเช่าอยู่เพื่อการค้าเป็นส่วนใหญ่ จำเลยได้อาศัยอยู่ในที่เช่าด้วย
ศาลแพ่งสั่งงดสืบพะยานแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเช่ารายนี้โจทก์บอกกล่าวให้เลิกสัญญาเช่ากับจำเลยในระหว่างใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๙ และโจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๙๐ จึงเป็นอันว่าคดีนี้ตกอยู่ในบังคับมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๙๐ ซึ่งให้ใช้ พ.ร.บ.ฉะบับนี้บังคับ ฉะนั้นการพิจารณาว่า เคหะรายนี้จะอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.หรือไม่ จึงต้องพิจารณาคำว่า “เคหะ” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๙๐ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยถึงเจตนาของคู่กรณีในเวลาทำสัญญากัน ประกอบกับเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ รวมกันว่า การเช่าสิ่งปลูกสร้างนั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือมิใช่ การที่ผู้เช่าอยู่ในที่เช่านั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่า การอยู่นั้นอยู่ในฐานะอย่างใด คดีนี้ศาลแพ่งงดสืบพะพยานเสีย คดีสมควรให้คู่ความนำสืบกันต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณา แล้วพิพากษาใหม่.

Share