คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17869/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบ ข้อ 3.4 เกี่ยวกับการห้ามใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญาหรือได้รับแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้นั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานวรรณกรรมแบบเรียนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาข้อนี้จึงจำกัดเฉพาะงานที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 3.4 โจทก์จึงต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นใดของโจทก์ที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบกระทำการใดที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ชิ้นใดที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบใช้หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าว
สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ระบุว่า “เกิดกรณีที่ผู้อนุญาต (โจทก์) ยกเลิกสัญญา กับสาขาที่ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ทำการสอนอยู่ ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) สัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท” ข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว ล. และ ด. จึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกและเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากจำเลยทั้งสิบซึ่งโจทก์อบรมให้ ข้อสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ดังกล่าว มิได้ห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบอาชีพครูโดยเด็ดขาดไม่ทำให้จำเลยทั้งสิบต้องรับภาระเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสิบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 มิได้เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ซึ่งได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนของโจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อจำเลยทั้งสิบยังคงเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ที่สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 กำหนดว่า “หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท” เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานที่จำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กำหนดค่าเสียหายในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 200,000 บาท เท่ากันทุกฉบับโดยไม่ได้พิจารณาลักษณะการกระทำและความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคน อีกทั้งจำเลยทั้งสิบประกอบวิชาชีพเป็นครูโดยทำงานอยู่กับ ล. และ ด. ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. การห้ามจำเลยทั้งสิบไม่ให้รับจ้างหรือทำงานกับ ล. และ ด. ต่อไปย่อมทำให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยทั้งสิบในการหางานด้วย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสิบจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาที่ทำกับโจทก์ การกำหนดให้จำเลยทั้งสิบต้องชำระเงินแก่โจทก์คนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เมื่อโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินคนละ 200,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกทางประกอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่ ล. และ ด. ก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินแก่โจทก์ในอัตราคนละ 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 50,000 บาท นั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จากจำเลยทั้งสิบได้เพราะค่าเสียหายดังกล่าว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 ให้โจทก์เรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าเสียหายคนละ 300,000 บาท ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 งดเว้นการเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนของนางสาวลำดวน สาขาพัทลุง และให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 10 งดเว้นการเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนของนางลัดดาวัล สาขานครศรีธรรมราช หรือสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับสถาบันของโจทก์เป็นระยะเวลา 6 เดือน และห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับกิจการของโจทก์เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป หากจำเลยคนใดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน ให้จำเลยคนนั้นชดใช้ค่าเสียหายในอัตราวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสิบชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายแต่ละคนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสิบไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนกวดวิชาชื่อ เลิศคณิต ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง-สงขลา จังหวัดสงขลา โจทก์แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ลักษณะงานสิ่งพิมพ์ ชื่อผลงาน “Smart Center Mental Arithmetic System” ซึ่งแบ่งเป็น “Course 1 Book 1” ถึง “Course 6 Book 2” รวมจำนวน 12 เล่ม โจทก์แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรมลักษณะงานหนังสือ ชื่อผลงาน “EngGet Smart English” ระดับ “Green 1 Book 1” และระดับ “Pre Green 1 Book 1” รวมจำนวน 2 เล่ม และโจทก์แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ลักษณะงานหนังสือ ชื่อผลงาน “Basic Yellow (Book 1)” และ “Basic Yellow (Book 2)” รวมจำนวน 2 เล่ม กับลักษณะงานหนังสือ ชื่อผลงาน “Yellow” ซึ่งแบ่งเป็น “Yellow 1 (Book 1)” ถึง “Yellow 4 (Book 4)” รวมจำนวน 8 เล่ม นอกจากนี้โจทก์ยังจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “E.M.T.” ในลักษณะประดิษฐ์และคำว่า “EngGet” ในลักษณะประดิษฐ์ สำหรับบริการ การบริการให้การศึกษา โจทก์อนุญาตให้นางสาวลำดวน ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนคณิตคิดเร็วและ “EngGet Smart English” และเครื่องหมายบริการคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ในเขตอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โจทก์อนุญาตให้นางลัดดาวัล ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนคณิตคิดเร็ว และ “EngGet Smart English” และเครื่องหมายบริการคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามสัญญาที่โจทก์ทำกับนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลดังกล่าว โจทก์ตกลงฝึกอบรมบุคลากรให้แก่บุคคลทั้งสองด้วย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างนางสาวลำดวน ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นลูกจ้างนางลัดดาวัล ตามสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ทุกฉบับดังกล่าวข้อ 3.3 จำเลยทั้งสิบจะทำการสอนในเนื้อหา หลักสูตร เทคนิคและวิธีการสอนที่ได้รับการอบรมได้เฉพาะในโรงเรียนเลิศคณิตที่ได้รับอนุญาตภายใต้ขอบเขตของการอนุญาตเท่านั้น และสัญญาว่าจะไม่นำหรือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ไปถ่ายทอด ลอกเลียน และเผยแพร่ ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนลิขสิทธิ์ของโจทก์ หากผิดสัญญา จำเลยทั้งสิบยินยอมจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โรงเรียนเลิศคณิต 1 สงขลา ของโจทก์จำนวน 300,000 บาท ในข้อ 3.4 จำเลยทั้งสิบหมดสิทธิในการใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิคและวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญา หรือได้รับการแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้ หากผิดสัญญา จำเลยทั้งสิบยินยอมจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โรงเรียนเลิศคณิต 1 สงขลา ของโจทก์จำนวน 300,000 บาท และตามข้อ 8.1 ในกรณีครบกำหนดเวลาแห่งสัญญา หรือเกิดกรณีที่โจทก์ยกเลิกสัญญาต่อสาขาที่จำเลยทั้งสิบทำการสอนอยู่ หรือเกิดกรณีใดก็ตามที่ทำให้จำเลยทั้งสิบมิได้ทำการสอนหลักสูตรของโจทก์ จำเลยทั้งสิบสัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้าง หรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับสถาบันของโจทก์เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่ลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับกิจการของโจทก์เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา จำเลยทั้งสิบยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังนางลัดดาวัลและนางสาวลำดวน ต่อมาโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลยทั้งสิบแจ้งว่า โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ทเซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง ผู้รับอนุญาตแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสิบในฐานะครูผู้สอนที่ได้รับอนุญาตให้สอนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์โดยเคร่งครัด หากเพิกเฉย โรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ทเซ็นเตอร์ สงขลา จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมหนังสือตำราเรียนของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสิบซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัล ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของบุคคลทั้งสองดังกล่าว การที่นางสุภาวดีและนางศรีรัตน์ตรวจพบเอกสารที่ถ่ายสำเนาจากตำราเรียนซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ในสถานประกอบการของนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสิบรู้เห็นเป็นใจในการละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำงานวรรณกรรมของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบเป็นผู้จัดทำหนังสือ ที่โจทก์อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสิบรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ให้การปฏิเสธว่า มิได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำด้วยการถ่ายสำเนาตำราเรียนวิชาภาษาอังกฤษและวิชาคณิตศาสตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าวร่วมกับนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัล ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่โจทก์ แต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 3.3 ส่วนสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 3.4 เกี่ยวกับการห้ามใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญาหรือได้รับแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้นั้น เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบเป็นสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานวรรณกรรมแบบเรียนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาข้อนี้จึงจำกัดเฉพาะงานที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 3.4 โจทก์จึงต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่า งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นใดของโจทก์ที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบกระทำการใดที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่า งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ชิ้นใดที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบใช้หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 3.4 อย่างไรก็ดี ที่โจทก์อุทธรณ์ด้วยว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ต่างให้การยอมรับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ยังคงเป็นครูผู้สอนในหลักสูตรที่เหมือนกันกับหลักสูตรการสอนของโจทก์และเป็นลูกจ้างนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลจริง โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 นอกจากทำการสอนต่อที่โรงเรียนของนางสาวลำดวนแล้ว ต่อมายังออกไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาในลักษณะเดียวกับโรงเรียนกวดวิชาของโจทก์จนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ยอมรับว่าปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 แล้วนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 มิได้เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ดังนี้ จึงมีเหตุผลให้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า หลังจากโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยทั้งสิบปฏิบัติตามสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์โดยเคร่งครัดแล้ว จำเลยทั้งสิบยังคงเป็นลูกจ้างนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัล ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บุคคลทั้งสองแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบจึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ที่ระบุว่า “เกิดกรณีที่ผู้อนุญาต (โจทก์) ยกเลิกสัญญากับสาขาที่ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ทำการสอนอยู่ ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) สัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท” ข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้นางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ รวมทั้งอบรมครูผู้สอนให้แก่นางสาวลำดวนและนางลัดดาวัล ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว นางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลจึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อีก สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จึงเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้นางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลใช้ประโยชน์จากจำเลยทั้งสิบซึ่งโจทก์อบรมให้ เมื่อจำเลยทั้งสิบต่างทำสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์โดยสมัครใจ ระยะเวลา 6 เดือน ที่จำเลยทั้งสิบสัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับสถาบันของโจทก์และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับกิจการของโจทก์เป็นระยะเวลา 1 ปี ที่จำกัดไว้ตามข้อ 8.1 เป็นระยะเวลาพอสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวมิได้ห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบอาชีพครูโดยเด็ดขาด ไม่ทำให้จำเลยทั้งสิบต้องรับภาระเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสิบ เมื่อจำเลยทั้งสิบยังคงเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัล ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บุคคลทั้งสองดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ที่สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 กำหนดว่า “หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท” เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานที่จำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กำหนดค่าเสียหายในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 200,000 บาท เท่ากันทุกฉบับโดยไม่ได้พิจารณาลักษณะการกระทำและความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคน อีกทั้งจำเลยทั้งสิบประกอบวิชาชีพเป็นครูโดยทำงานอยู่กับนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลตั้งแต่ก่อนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่นางสาวลำดวนและนางลัดดาวัล การห้ามจำเลยทั้งสิบไม่ให้รับจ้างหรือทำงานกับนางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลต่อไปย่อมทำให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยทั้งสิบในการหางานด้วย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสิบจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาที่ทำกับโจทก์ การกำหนดให้จำเลยทั้งสิบต้องชำระเงินแก่โจทก์คนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เมื่อโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินคนละ 200,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกทางประกอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่นางสาวลำดวนและนางลัดดาวัลก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินแก่โจทก์ในอัตราคนละ 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 50,000 บาท นั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามคำฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จากจำเลยทั้งสิบได้เพราะค่าเสียหายดังกล่าวพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 ให้โจทก์เรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินคนละ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ 11 มกราคม 2551 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

Share