คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2693/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ผู้ขายกับจำเลย ระบุว่านับแต่วันทำสัญญาภายในระยะเวลา 2 ปี ถ้าโจทก์ประสงค์จะซื้อคืนจำเลยยินดีจะขายคืนให้ การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 4942 เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ราคาประมาณ 1,050,000 บาท โจทก์ขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยโดยขายต่ำกว่าราคาที่ควรจะขายจริง คือขายเป็นเงิน 300,000บาท และมีเงื่อนไขตกลงในการซื้อขายครั้งนี้ว่า ถ้าโจทก์ประสงค์จะซื้อคืนหรือต้องการที่ดินแปลงดังกล่าวนี้กลับคืนภายใน 2 ปี จำเลยยินดีจะขายกลับคืนให้โจทก์ในราคา 300,000 บาท และจะไม่นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายให้ผู้อื่นก่อนครบกำหนด 2 ปี ในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยให้สัญญากับโจทก์นั้น โจทก์ได้ตกลงจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้กับนายยุด มาสุข โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกันในราคาไร่ละ50,000 บาท เนื้อที่ทั้งแปลง 21 ไร่ คิดเป็นเงิน 1,050,000 บาทและในวันทำสัญญาโจทก์ได้รับเงินมัดจำเป็นเงิน 400,000 บาท จากนายยุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2529 กำหนดโอนที่ดินวันที่ 15มกราคม 2530 หลังจากรับเงินมัดจำแล้ว โจทก์พยายามติดต่อกับจำเลยเพื่อจะขอซื้อที่ดินคืนตามสัญญา จำเลยขอผัดผ่อนเรื่องมา ภายหลังโจทก์สืบทราบว่า จำเลยได้แอบขายที่แปลงนี้ให้กับนายสมพงษ์พวงศรีทอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากจำเลยขายคืนให้ตามสัญญาโจทก์สามารถนำไปขายให้กับนายยุดในราคาไร่ละ 50,000 บาทโจทก์จะได้เงินจากการขายที่ดินนี้เพิ่มขึ้น เมื่อจำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดรายได้ที่ควรได้ 750,000 บาท และโจทก์ไม่สามารถนำที่ดินไปขายให้นายยุดได้ นายยุดแจ้งความจำนงจะดำเนินคดีแก่โจทก์ทางศาลโจทก์ขอรับผิดและใช้เงินให้กับนายยุดเป็นเงิน 700,000 บาท โจทก์จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้นายยุดแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย นอกจากจะไม่ได้ราคาที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้น750,000 บาท แล้ว โจทก์ยังต้องใช้เงินให้กับนายยุดอีก 700,000 บาทขอให้บังคับจำเลยใช้เงินให้โจทก์ 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยไม่มีเจตนาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทแต่อย่างใด ความจริงโจทก์และนายสมพงษ์ พวงศรีทอง น้องภรรยาโจทก์เดือดร้อนทางการเงินได้ติดต่อขอกู้เงินจำเลย 300,000 บาท โดยเสนอหลักประกันที่ดินโฉนดที่ 4942 โดยโจทก์จำเลยตกลงกันว่า โจทก์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยในวันรับเงินเพื่อเป็นหลักประกันการกู้เงินโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์และนายสมพงษ์จะต้องทำการไถ่คืนภายใน2 ปี โจทก์และนายสมพงษ์จึงให้จำเลยทำบันทึกไว้ เพื่อป้องกันจำเลยบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน2529 นายสมพงษ์มาติดต่อจำเลยว่าสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้แล้วขอชำระหนี้และให้จำเลยโอนที่ดินคืน จำเลยรับเงินต้นและดอกเบี้ยและได้โอนที่ดินที่เป็นหลักประกันคืน ซึ่งการกระทำของโจทก์จำเลยได้ปฏิบัติถูกต้องตามเจตนาที่แท้จริงแล้ว แต่โจทก์และนายสมพงษ์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนำคดีมาฟ้องทั้งที่รู้ว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางเท่านั้นและนิติกรรมที่แท้จริงคือการกู้ยืมเงินกัน และโจทก์จำเลยได้ปฏิบัติต่อกันถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ในเบื้องแรกทั้งโจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง หากแต่เป็นเรื่องกู้ยืมเงินระหว่างกันโจทก์เองก็เบิกความว่า โจทก์เดือดร้อนการเงินได้ติดต่อกับนายสมพงษ์ให้หาเงินกู้ให้ การติดต่อหาเงินกู้ได้ทำผ่านนายสมพงษ์ทั้งสิ้น โจทก์ไม่ได้ติดต่อเอง แสดงว่าโจทก์ได้มอบภาระการกู้เงินให้แก่นายสมพงษ์เป็นตัวแทนของตน ดังจะเห็นพฤติการณ์ต่อมาว่านายสมพงษ์ได้ขอให้นายสมปองหาแหล่งเงินกู้ และติดต่อนำสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทไปให้จำเลยและนายประสงค์ตรวจสอบ นอกจากนี้หลังจากได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วฝ่ายผู้ขายชำระดอกเบี้ยให้จำเลยเพียง 1 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่ชำระทำให้นายประสงค์ต้องทวงถามให้นายสมพงษ์ชำระโดยทวงถามผ่านนายสมปอง จนนายสมพงษ์ต้องเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยเดือนที่สองให้แต่หลังจากนั้นก็ไม่ชำระอีก นายประสงค์ต้องทวงถามนายสมพงษ์ให้ชำระทุกเดือนจนถึงเดือนที่แปดหรือเดือนที่เก้าก็ไม่ได้รับชำระยิ่งไปกว่านั้นสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ที่ระบุให้ผู้ขายมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนได้นั้น โจทก์รับว่าโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญาเอง แต่โจทก์ก็หาได้ระบุความเกี่ยวพันของโจทก์ในฐานะผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทให้เป็นผู้รับโอนโดยตรงไม่ ข้อความในสัญญาคงกล่าวรวม ๆ เพียงว่า “ผู้ขาย” เท่านั้น โดยโจทก์เองก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ด้วย ไม่ว่าในฐานะผู้รับความยินยอมหรือผู้ขาย ทั้งที่ไม่เป็นการยากลำบากหรือมีเหตุขัดข้องใดที่จะกระทำเช่นนี้ คงปล่อยให้นายสมพงษ์ลงชื่อเป็นพยานแต่ผู้เดียวในสัญญาดูเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ยอมรับว่านายสมพงษ์อยู่ในฐานะฝ่ายผู้ขายด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 มิได้เขียนที่บ้านจำเลยก็ดี หรือนางหวานเย็น คร้ามบุญลือ ไม่ได้ไปที่บ้านจำเลยก็ดีนั้นเมื่อโจทก์ยอมรับข้อความตามสัญญาฉบับดังกล่าวและอ้างสิทธิตามข้อตกลงก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อโต้เถียงเหล่านั้น ส่วนที่ฎีกาว่าถ้านายสมพงษ์เป็นตัวแทนของโจทก์ก็น่าจะลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ในช่องพยานช่องแรกที่อยู่ถัดจากชื่อจำเลยลงมามิใช่ในช่องพยานบรรทัดล่างถัดจากชื่อของนางหวานเย็น มิฉะนั้นแล้วจำเลยก็สามารถขายที่ดินคืนให้แก่นางหวานเย็นได้เช่นกันในข้อนี้เห็นว่า การลงชื่อเป็นพยานในช่องบรรทัดแรกหรือบรรทัดต่อไปอย่างใดหรือไม่หาใช่เป็นข้อสำคัญไม่ แต่อยู่ที่พฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องในคดีมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งจำเลยขายที่ดินพิพาทไปว่ามีข้อเท็จจริงที่นายสมพงษ์กระทำการเป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นกล่าวไปแล้วรับฟังได้ว่า นายสมพงษ์เป็นตัวแทนของโจทก์เกี่ยวกับการกู้เงินและการโอนที่ดินพิพาทตลอดมาจึงต่างกับกรณีของนางหวานเย็นพยานในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 การที่จำเลยโอนที่ดินขายให้แก่นายสมพงษ์จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจึงมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษายืน

Share