แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บันทึกการจับกุมที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจลงชื่อ 16 คนแม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงชื่อในบันทึกการจับกุมทั้งหมดจะไปร่วมจับกุมด้วยหรือไม่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนร่วมทำการจับคนร้ายจริง แม้บันทึกบางส่วนจะไม่เป็นจริงก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์เสียไป จำเลยเข้าแย่งกระเป๋าจากผู้เสียหาย นาย อ.ซึ่งนั่งติดกับผู้เสียหายได้ช่วยเหลือผู้เสียหาย ในขณะที่มีการแย่งกระเป๋ากันอยู่ จำเลยก็อยู่ใกล้นาย อ.ทั้งมือจำเลยก็ไม่มีอะไรขัดขวางไม่ให้เคลื่อนไหว จำเลยย่อมมีโอกาสยิง นาย อ. ตรงส่วนใดของร่างกายก็ได้การที่จำเลยยิงที่มือนาย อ. เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าประสงค์จะให้นาย อ. ปล่อยกระเป๋า มิใช่ประสงค์จะฆ่านาย อ. จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 เท่านั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289,339,340 ตรี ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ซึ่งเป็นความผิดตามที่รวมอยู่ในการกระทำข้อหาพยายามฆ่า ศาลมีอำนาจลงโทษตามความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268, 289, 339, 340 ตรี, 91, 80, 32, 33พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ กับขอให้ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนและปลอกกระสุนปืนของกลางให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอและล็อกเกตที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 21,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์และพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์นั้นไปลงโทษตามมาตรา 289(7), 80 ประกอบมาตรา 52 ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268, 265 ให้ริบอาวุธปืนของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาชิงทรัพย์จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคสาม, 340 ตรี โดยให้ลงโทษตามมาตรา 289(7), 80 และข้อหามีและพาอาวุธปืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสามและมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะข้อหาชิงทรัพย์และพยายามฆ่า
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุผู้เสียหายกับนายอนันต์ได้โดยสารรถไฟขบวนสุราษฎร์ธานี-สุไหงโก-ลก จากสถานีรถไฟยะลาไปยังอำเภอสุไหงโก-ลก ขณะนั่งรถไฟจำเลยเอาปืนจี้ผู้เสียหายและชิงเอาทรัพย์วิ่งหนีไป นายอนันต์ถูกปืนคนร้ายที่ข้อมือขวาได้รับอันตราย จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาชิงทรัพย์ กับข้อหาอาวุธปืน ส่วนข้อหาพยายามฆ่าให้การปฏิเสธ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า หมายเลขทะเบียนปืนกับหมายเลขประจำปืนของกลางมีรอยขูดลบแก้ไขไม่ใช่หมายเลขเดิม จึงแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่าปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์รายนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ปัญหามีว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าหรือไม่ การที่จำเลยยิงนายอนันต์ที่มือเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยประสงค์จะให้นายอนันต์ปล่อยกระเป๋า มิใช่ประสงค์จะฆ่า ถ้าจำเลยประสงค์จะฆ่าก็น่าจะเลือกยิงในส่วนที่สำคัญและทำให้ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่กับการกระทำในข้อหาพยายามฆ่า ศาลมีอำนาจลงโทษตามความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ให้ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยให้การรับสารภาพบางข้อหาในชั้นสองสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาพยายามฆ่า นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3