แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. กับ ว. คู่ความในคดีเดิมทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทที่ว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ จึงเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ทางพิพาทจึงไม่ใช้ทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์อีกต่อไปแต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิใช้ถนนในที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ได้ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้โจทก์จะใช้เกินกว่า 10 ปี แล้วก็ไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401
ผลแห่งคำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. จะต้องยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้ถนนทุกสายที่มีอยู่ในที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด โดยให้ใช้ได้อย่างทางภาระจำยอม บุคคลที่รับโอนที่ดินมาจากหางหุ้นส่วนจำกัด ม. ถือได้ว่าเป็นคู่ความแทนห้างดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนที่ดินที่มีทางพิพาทอยู่ จึงต้องผูกพันยอมให้โจทก์และบริวารใช้ถนนที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ได้อย่างทางภาระจำยอมด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาท เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม แม้ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์คือทางหรือถนนที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้น มิใช่ทางพิพาท ศาลก็มีอำนาจพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนถนนที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าที่ขอมาท้ายคำฟ้อง
แม้ทางพิพาทจะมิใช้ทางภาระจำยอม แต่โจทก์และบริวารก็ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราดเพราะยังไม่มีทางอื่น การที่จำเลยที่ 1 นำดินมาปิดกั้นทางพิพาทและขุดรื้อทางพิพาทออกโดยยังไม่จัดทำถนนเส้นใหม่เพื่อให้โจทก์และบริวารใช้เป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราดย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ และถือเป็นการละเมิดสิทธิการใช้ทางพิพาทต่อโจทก์ด้วย
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ย่อมหมายถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาทต้องจำยอมให้โจทก์และบริวารของโจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าสู่ถนนสายบางนา-ตราด เท่านั้น บุคคลอื่นที่มิใช่บริวารของโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ การที่จำเลยที่ 1 ปิดกั้นทางพิพาท แม้จะทำให้บุคคลภาคนอกไม้เข้ามาใช้บริการโรงแรมและร้านอาหารของโจทก์ หรือเข้ามาใช้บริการน้อยลงเพราะไม่สะดวกในการใช้ทาง ก็มิใช่ความเสียหายโดยตรงที่โจทก์และบริวารไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์และชาวบ้านใช้ทางด้านทิศใต้เป็นทางเข้าออกจากท่าริมน้ำบางปะกงสู่ถนนสายบางนา-ตราด มานานกว่า 20 ปี โจทก็ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างกับพวกเกี่ยวกับภาระจำยอม ในที่สุดมีการประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์และบริวารใช้ทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ถนนสายบางนา-ตราด และในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลมีคำสั่งว่าเป็นทางภาระจำยอมแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินหลายโฉนดรวมทั้งทางภาระจำยอมด้วย แล้วจัดสรรจำหน่ายชื่อโครงการ มารีน่าไอส์แลนด์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างโดยขุดเจาะที่ดินให้เป็นเกาะแก่งล้อมรอบที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก็ได้รับความเดือดร้อนไม่สะดวกในการสัญจร ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 นำดินปิดกั้นไม่ให้บุคคลได้ใช้ทางภาระจำยอมต่อไป ทำให้โจทก็ซึ่งดำเนินกิจการโรงแรมและร้านอาหารได้รับความเสียหาย เนื่องจากลูกค้าลดน้อยลง เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้วันละประมาณ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน 27 วัน รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 441,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 441,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามเปิดทางภาระจำยอมและปรับสภาพทางภาระจำยอมให้อยู่ในสภาพดี และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าศาลในคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างมีคำสั่งว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมนั้น ก็ปรากฏว่า คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งในชั้นพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วครางเท่านั้น ศาลมิได้มีคำวินิจฉัยในเนื้อหาคดีว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมดังโจทก์อ้าง ทั้งในคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม โดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องให้จดทะบียนทางภาระจำยอมหากสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามก็ได้สร้างถนนเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด มีความกว้าง 10 เมตร ผ่านที่ดินของโจทก์ ซึ่งโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกได้เป็นอย่างดีแล้ว ทั้งต่อไปจำเลยทั้งสามจะทำถนนดังกล่าวเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กด้วย ทางพิพาทมีสภาพเป็นท้องนา โจทก์ถือวิสาสะใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเท่านั้น ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางภาระจำยอม จำเลยที่ 1 ปรับสภาพที่ดินเพื่อจัดสรรขายให้แก่บุคคลทั่วไปจึงไม่ทำให้โจทก์และชาวบ้านทั่วไปได้รับควาเดือดร้อน เพราะจำเลยที่ 1 ได้ทำถนนกว้างประมาณ 10 เมตร ในโครงการกฤษดามารีน่าไอส์แลนด์ ซึ่งโจทก์และบริวารได้ใช้เส้นทางดังกล่าวออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภาระจำยอมในทางพิพาทตามแนวเขต ล.ม.5, ล.ม.6, ล.ม.2, ล.ม.1 ในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.8 หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 เปิดทางภาระจำยอมและปรับสภาพทางให้อยู่ในสภาพดี และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยซื้อมาจากนายสะอาด จันทร์ศรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2526 ขณะซื้อที่ดินมีทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด โจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดิน ต่อมาปี 2528 ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 125 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แปลงที่มีทางพิพาทจากเจ้าของเดิมแล้วปิดทางพิพาท โจทก์จึงฟ้องห้างดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นขอให้เปิดทางพิพาท โดยอ้างว่าเป็นทางภาระจำยอม ในที่สุดโจทก์และห้างดังกล่าวทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2528 ตามสัญญประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 2 หลังจากนั้นโจทก์ยังคงใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด ตลอดมา โจทก์ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมและร้านอาหารในที่ดินของโจทก์ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ต่อมาที่ดินแปลงนี้มีทางพิพาทได้โอนเปลี่ยนเจ้าของกรรมสิทธิ์อีกหลายคนจนตกมาเป็นกรรมสิทธ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 125 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2538 และจำเลยที่ 1 ยังได้ซื้อที่ดินอีกหลายแปลงในบริเวณใกล้เคียงด้วย แล้วจำเลยที่ 1 จัดทำหมู่บ้านจัดสรรชื่อโครงการ “กฤษดามารีน่าไอส์แลนด์” ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 นำดินปิดกั้นทางพิพาทกับขุดรื้อทางพิพาทออก และดำเนินการสร้างถนนขึ้นใหม่เพื่อให้โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด ตามส่วนซึ่งระบายสีน้ำเงินในแผนผังที่ดินกฤษดานคร 32 (กฤษดามารีน่าไอส์แลนด์) เอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกทำนองว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แล้ว เพราะโจทก์เคยฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้าง เรื่องทางภาระจำยอมเกี่ยวกับทางพิพาท ซึ่งโจทก์กับห้างดังกล่าวได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลเพื่อยุติข้อพิพาทเรื่องทางภาระจำยอมนั้นและศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์และบริวารคงมีเพียงสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะใช้ทางหรือถนนทุกสายที่มีอยู่หรือที่ห้างดังกล่าวจะทำขึ้นภายภาคหน้าในที่ดินของห้างนั้นออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด เท่านั้น เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 275/2528 ของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้าง กับนายวัชัย เตียนโพธิ์ทอง หุ้นส่วนผู้จัดการตกลงประนีประนอมยอมความกันมีข้อความระบุว่า “…ข้อ 1 จำเลยทั้งสอง(ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างและนายวิชัย) ยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้เส้นทางหรือถนนทุกสายที่จำเลยมีอยู่หรือจะทำขึ้นต่อไปภายหน้าในที่ดินของจำเลยออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ข้อ 2 ถ้าหากถนนที่จำเลยจะสร้างหรือจะทำขึ้นมิได้ผ่านที่ดินของโจทก์ จำเลยก็จะทำถนนเชื่อมให้ไปถึงที่ดินของโจทก์ตลอดแนวทางด้านทิศใต้โดยมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เมตร ข้อ 3 ส่วนเรื่องค่าเสียหายและภาระจำยอมนั้น ทางโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง ข้อ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่ศาลสั่งคืนและค่าทนายความให้เป็นพับ…” ดังนี้ การที่โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้าง กับนายวิชัยคู่ความในคดีเดิมนั้นได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและศาลได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.11 ที่ว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ จึงเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์อีกต่อไป แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิใช้ทางหรือถนนในที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ได้ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.11 เท่านั้น การที่โจทก์ยังคงใช้ทางพิพาทเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด ตลอดมาหลังจากที่สำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าว จึงเป็นการใช้ทางพิพาทโดยความยินยอมของห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นนั่นเอง แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทเกินกว่า 10 ปีแล้วก็ตามทางพิพาทก็หาตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลแห่งคำพิพาษาตามยอมและประนีประนอมยอมความเอาสารหมาย จ.11 ย่อมผูกพันโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างซึ่งเป็นคู่ความกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 กล่าวคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้างจะต้องยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้เส้นทางหรือถนนทุกสายที่มีอยู่ในที่ดิน่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่าอสร้าง ออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด โดยให้ใช้ได้อย่างทางภาระจำยอม ทั้งจะต้องทำถนนเชื่อมที่ดินของโจทก์ตลอดแนวทางด้านทิศใต้ให้มีขนาดกว้าง 4 ถึง 5 เมตร เพื่อให้โจทก์และบริวารออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ด้วย หากบุคคลได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 125 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาสินก่อสร้าง และผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวต่อๆมา จึงถือได้ว่าเป็นคู่ความแทนห้างดังกล่าว ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนที่ดินที่มีทางพิพาทดังกล่าวจึงมีฐานะเป็นคู่ความกับโจทก์แทนห้างดังกล่าวต้องผูกพันยอมให้โจทก์และบริวารใช้ทางหรือถนนที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ได้อย่างทางภาระจำยอมด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางภาระจำยอมนั้นด้วย แม้ในทางพิจารณาจะปรากฏว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์คือทางหรือถนนที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นตามที่ระบายด้วยสีน้ำเงินในแผนผังที่ดินเอกสารหมาย ล.3 มิใช้ทางพิพาทก็ตาม ศาลก็มีอำนาจพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางหรือถนนที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าที่ขอมาท้ายคำฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่าการที่จำเลยที่ 1 นำดินมาปิดกั้นทางพิพาทและขุดรื้อทางพิพาทออกนั้นเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด เห็นว่า แม้ทางพิพาทจะมิใช่ทางภาระจำยอมตามที่โจทก์ฟ้อง แต่โจทก์และบริวารก็ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราดเพราะยังไม่มีทางอื่น การที่จำเลยที่ 1 นำดินมาปิดกั้นทางพิพาทและขุดรื้นทางพิพาทออกโดยยังไม่จัดทำทางหรือถนนเส้นใหม่เพื่อให้โจทก์และบริวารใช้เป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราดย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ และถือเป็นการละเมิดสิทธิการใช้ทางพิพาทต่อโจทก์ด้วยซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 นำดินมาขวางกั้นบนทางพิพาทห้ามมิให้บุคคลใดใช้ทางพิพาทตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ซึ่งหลานชายโจทก์เป็นผู้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2539 ว่า ขณะเดินไปตามทางพิพาทเพื่อออกไปถนนสายบางนา-ตราด พบมีกองดิน 3 ถึง 4 กอง ปิดทางพิพาทไว้ เหนือกองดินขึ้นไปเล็กน้อยมีแผ่นไม้อัดทาสีขาวเขียนข้อความว่า “อันตราย เขตก่อสร้าง” มีลูกศรสีแดงชี้ไปทางเบี่ยง กับ ข้อความ “ทางไปโรงแรม” และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายหมาย จ.4 ประกอบแล้ว เชื่อได้ว่าขณะจำเลยที่ 1 นำกองดินมากองปิดกั้นทางพิพาทโดยมีแผ่นไม้อัดมีข้อความพร้อมลูกศรชี้ทางไปโรงแรมนั้น ทางหรือถนนที่มุ่งไปทางโรงแรมยังมีลักษณะเป็นพื้นดินเปียกแฉะเพิ่งสร้างหรือทำขึ้นใหม่ๆ ยังไม่มีลักษณะเป็นถนน ไม่สะดวกแก่การใช้อย่างยิ่ง แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำทางหรือถนนให้มีขึ้นเพื่อให้โจทก์และบริวารได้ใช้เป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด เสียก่อนที่จะปิดกั้นทางพิพาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 และถือได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว และโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจัดทำทางหรือถนนให้โจทก์และบริวารสามารถใช้เป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด ได้โดยสะดวกเช่นเดียวกับทางพิพาท หาใช้นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ตามที่โจทก์ฟ้องไม่ เพราะในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังมิได้กระทำการใดเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ย่อมหมายถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาท ต้องจำยอมให้โจทก์และบริวารของโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด เท่านั้น บุคคลอื่นที่มิใช่บริวารของโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทนั้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ปิดกั้นทางพิพาท แม้จะทำให้บุคคลภายนอกไม่เข้ามาใช้บริการโรงแรมและร้านอาหารของโจทก์ หรือเข้ามาใช้บริการน้อยลงเพราะไม่สะดวกในการใช้ทางก็ตาม ก็มิใช้ความเสียหายโดยตรงที่โจทก์และบริวารไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าออกถนนสายบางนา-ตราด แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท เป็นค่าขาดรายได้จากกิจการโรงแรมและร้านอาหารของโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ปิดทางพิพาทก่อนจัดทำทางใหม่ ทำให้โจทก์และบริวารได้รับความเสียหายดังวินิจฉัยแล้ว แต่โจทก์ก็ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ถึงวันฟ้อง วันที่ 27 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเพียงระยะเวลา 7 วัน เท่านั้น ศาลฏีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทย์เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท และ เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางหรือถนนที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นตามรูปแผนผังที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ที่ระบายด้วยสีน้ำเงิน เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 127 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแจ้งให้จำเลยที่ 1 จัดทำทางหรือถนนดังกล่าวให้อยู่ในสภาพดีอย่างน้อยให้เท่าเทียมกับทางพิพาทก่อนถูกปิดกั้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับกันไป.