คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15544/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบรับเงินค่านำหมายที่จำเลยปลอมขึ้นและนำไปใช้ขอรับเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าจำเลยได้ชำระค่าป่วยการและค่าพาหนะให้แก่เจ้าพนักงานในการนำส่งหมายเรียกพยานโจทก์และหมายเรียกจำเลยที่ 1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 5 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิที่ศาลชั้นต้นจะเรียกเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของศาลชั้นต้นโดยเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้จัดทำขึ้น จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266, 268, 341, 91 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 9,350 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1), 268 วรรคสอง, 341 เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง เพียงกระทงเดียว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จำคุก 2 ปี ฐานฉ้อโกง จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 9,350 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) และ 341 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นางวารี ผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยฟ้องบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิต และยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายบุญชู สามีของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายเป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาลวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยยื่นฟ้องบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 378/2542 ของศาลชั้นต้น โดยผู้เสียหายเป็นผู้ชำระค่าขึ้นศาล ส่วนจำเลยไปชำระเงินค่านำหมายเรียกพยานโจทก์และค่านำหมายเรียกจำเลยที่ 1 นางมะลิวัลย์ช่วยราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 ศาลชั้นต้น ออกใบรับเงินค่านำหมาย 2 ฉบับ ระบุจำนวนเงินค่านำหมาย ฉบับละ 150 บาท ให้จำเลยหลังจากนั้นจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินค่านำหมายเรียกให้แก่พยานโจทก์เป็น 1,500 บาท และแก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินค่านำหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ 1 เป็น 8,150 บาท แล้วนำไปมอบให้ผู้เสียหายเพื่อรับค่านำหมายจากผู้เสียหายตามจำนวนที่แก้ไข ผู้เสียหายชำระเงินค่านำหมายตามที่ระบุในใบรับเงินค่านำหมายให้แก่จำเลย
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ใบรับเงินค่านำหมายเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ หรือไม่ เห็นว่า ใบรับเงินค่านำหมายที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ขอรับเงินค่านำหมายจากผู้เสียหายเป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าจำเลยได้ชำระค่าป่วยการและค่าพาหนะให้แก่เจ้าพนักงานในการนำส่งหมายเรียกพยานโจทก์และหมายเรียกจำเลยที่ 1 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ข้อ 5 ใช้เป็นใบรับเงินค่านำหมาย จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิที่ศาลชั้นต้นจะเรียกเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของศาลชั้นต้นโดยเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้จัดทำขึ้น จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share