คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะกำหนดว่าเมื่อโจทก์จำเลยไม่อาจตกลงกันในปัญหาการตีความข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งสองฝ่ายตกลงเสนอให้กรมแรงงานเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยให้เป็นที่สุดก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าคู่กรณีไม่อาจนำปัญหาดังกล่าวไปขอให้กรมแรงงานวินิจฉัยได้อีก ไม่มีความหมายถึงกับว่าหากคำวินิจฉัยของกรมแรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คู่กรณีจะไม่มีสิทธิฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ เพราะคำวินิจฉัยของกรมแรงงานไม่ใช่กฎหมาย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) จำเลยมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะบัญชีปีปัจจุบันมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงชัดแจ้งไม่ให้จำเลยหักผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน จำเลยย่อมมีสิทธิหักผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทุกคนเป็นพนักงานและลูกจ้างประจำของจำเลยได้รับเงินเดือนและค่าจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้แต่ละปีตลอดมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โจทก์กับจำเลยได้ตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่าจำเลยตกลงพิจารณาปรับปรุงโบนัสและสวัสดิการให้โจทก์ทั้งหมดทุก ๆ ระยะ๖ เดือน โดยนับตามปีปฏิทิน ทั้งนี้เฉพาะในกรณีที่จำเลยได้กำไรสุทธิ (หักภาษีแล้ว)โดยจำเลยตกลงแบ่งกำไรสุทธิให้โจทก์ร้อยละ ๒๐ ต่อมาวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ โจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวในเรื่องการนับเวลาตามปีปฏิทินเป็นให้นับตามเวลาทำงบดุลของจำเลยซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ถึง วันที่ ๓๐ พฤศจิกายนของทุกปี จำเลยได้ประพฤติผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยมีกำไรสุทธิเป็นจำนวนถึง ๒๘๐,๖๔๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อคำนวณยอดเงินโบนัสซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์เป็นเงิน ๕๖,๑๒๘,๐๐๐ บาท แต่จำเลยจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้โจทก์เพียง ๒๙,๖๗๒,๐๐๐ บาท คงค้างจ่ายอีก ๒๖,๔๕๖,๐๐๐ บาท ซึ่งคิดเทียบกับเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนของโจทก์แล้ว จำเลยยังค้างจ่ายโบนัสแก่โจทก์อีกคนละ ๖ เดือนครึ่ง โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ จึงขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์อีก ๒๖,๔๕๖,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ โจทก์จำเลยได้เคยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในการที่จะจ่ายกำไรสุทธิ (หักภาษีแล้ว) ในอัตราร้อยละ ๒๐ แก่ลูกจ้างของจำเลย โดยให้ถือกำไรสุทธิตามงบการเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องทำขึ้นตามกฎหมายและทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันให้มีผู้สอบบัญชีตกลงตรวจสอบรับรอง กำไรสุทธิที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายเงินนั้นเป็นไปตามหลักการบัญชีรับรองทั่วไป และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น จำเลยจึงได้จ่ายเงิน ๒๙,๖๗๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ ๒๐ ของกำไรที่หักภาษีแล้วและโจทก์ได้รับเงินตามข้อตกลงไปถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๒ ข้อ ๑.๔ วรรคแรกมีความว่า “นายจ้างตกลงพิจารณาปรับปรุงโบนัสและสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างของบริษัทซัมมิทอินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น(ปานามา) จำกัด ทุกคนทุก ๆ ระยะ ๖ เดือน โดยนับตามปีปฏิทิน ทั้งนี้เฉพาะกรณีที่บริษัทซัมมิทอินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น (ปานามา) จำกัด ได้กำไรสุทธิ (หักภาษีแล้ว)โดยบริษัทตกลงแบ่งกำไรสุทธิดังกล่าวให้ร้อยละ ๒๐” แต่ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกำไรสุทธิไว้ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างอยู่ต่อไปทั้งสองฝ่ายจึงต้องทำความตกลงเพื่อตีความข้อตกลงฉบับแรกขึ้นอีกปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๗ แผ่นที่ ๒ ซึ่งมีข้อความเช่นเดียวกับเอกสารหมาย ล.๑ เอกสารหมาย จ.๗ แผ่นที่ ๒ ข้อ ๑ มีความว่า “นายจ้างยินดีสำรองจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างบริษัทซัมมิทอินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น (ปานามา) จำกัดทุกคนคนละ ๒ เดือน ส่วนจำนวนกำไรที่แน่นอนจะได้ให้สำนักผู้ตรวจสอบบัญชี (SGV – Na Thalang & Co., Ltd.) รับรองบัญชีเพื่อจะได้ปฏิบัติตามข้อตกลงต่อไป” ต่อมาสำนักผู้ตรวจสอบบัญชีดังกล่าวได้ตรวจสอบบัญชี และทำงบดุลขึ้นตามเอกสารหมาย จ.๑๐ จ.๑๓ และจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทุกคนตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินโบนัสจำนวนนี้ยังไม่ถูกต้องเพราะในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยมีกำไรรวม ๔๑๕,๑๐๗,๓๓๐ บาท ๔๑ สตางค์ จำเลยนำยอดขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน ๕ ปี ก่อนระยะเวลาบัญชีเป็นเงิน ๑๘๘,๐๓๓,๗๘๒ บาท ๐๖ สตางค์ มาหักออกจากกำไรทั้งหมด เหลือกำไรที่ต้องเสียภาษี ๒๒๗,๐๗๓,๕๔๘ บาท ๓๕ สตางค์ นำกำไรยอดนี้มาเสียภาษีร้อยละ ๓๕ เหลือกำไรสุทธิ (หักภาษีแล้ว) ๑๔๗,๕๙๗,๘๐๖ บาท ๔๓ สตางค์ จำเลยคิดโบนัสร้อยละ ๒๐ จากกำไรสุทธิยอดดังกล่าวนี้และได้ผลลัพธ์เท่ากับ ๒๙,๕๑๙,๕๖๑ บาท ๒๘ สตางค์ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินขาดทุนสุทธิไม่เกิน ๕ ปี ก่อนระยะเวลาบัญชีออกจากกำไรทั้งหมด เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.๗ แผ่นที่ ๒ ข้อ ๑ จำเลยตกลงจะจ่ายโบนัสสำรองให้โจทก์คนละ ๒ เดือน ส่วนกำไรที่แน่นอนจะต้องให้สำนักผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองเสียก่อนเพื่อจะได้ปฏิบัติตามข้อตกลงต่อไปนอกจากนี้ตามเอกสารหมาย จ.๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “และเมื่อบริษัทฯผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบงบดุลกำไรขาดทุนของบริษัทซัมมิท อินดัสเตรียลคอร์ปอร์เรชั่น (ปานามา) จำกัด เสร็จแล้ว บริษัทซัมมิทอินดัสเตรียลคอร์ปอร์เรชั่น (ปานามา) จำกัด จะแจ้งให้ลูกจ้างทราบในเวลาพอสมควรเพื่อพิจารณาจ่ายส่วนที่ค้างจ่าย” และเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๒ มีข้อความว่า”เมื่อบริษัทซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น (ปานามา) จำกัด ได้ทราบผลกำไรในช่วง ๖ เดือนแล้ว บริษัทซัมมิทอินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น (ปานามา)จำกัด จะจ่ายเงินโบนัสส่วนที่เหลือให้กับลูกจ้างทุกคน ตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ข้อ ๑.๔ ก่อนวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ โดยจะแจ้งให้ลูกจ้างทราบในเวลาพอสมควร (ผลกำไรตามงบดุลของบริษัทซัมมิทอินดัสเตรียล (ปานามา) จำกัด)” จึงเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาจะให้ถือเอาผลการตรวจสอบบัญชีมาเป็นหลักในการคำนวณเงินโบนัส แม้ตามเอกสารหมาย จ.๒ ข้อ ๘ จะกำหนดไว้ว่า เมื่อโจทก์จำเลยไม่อาจตกลงกันในปัญหาการตีความทั้งสองฝ่ายตกลงเสนอให้กรมแรงงานเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด และกรณีนี้กรมแรงงานได้มีคำวินิจฉัยที่มท.๑๒๐๖/๑๐๗๘๙ ตามเอกสารหมาย จ.๙ ว่าจำเลยจะนำผลสุทธิก่อนแบ่งจ่ายเป็นเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างไปหักชดเชยการขาดทุนของปีก่อน ๆ ตามประมวลรัษฎากรไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับผลของข้อตกลงดังนี้ก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าคู่กรณีไม่อาจนำปัญหาดังกล่าวไป ขอให้กรมแรงงานวินิจฉัยได้อีก แต่ไม่มีความหมายถึงกับว่าหากคำวินิจฉัยของกรมแรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายคู่กรณีไม่มีสิทธิฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ เพราะคำวินิจฉัยของกรมแรงงานไม่ใช่กฎหมาย สำหรับกรณีที่เป็นปัญหาว่าจำเลยจะนำยอดขาดทุนสุทธิไปหักออกจากกำไรได้หรือไม่นั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๑๒) จำเลยมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน ๕ ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ดังนั้นเมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๗ แผ่นที่ ๒ ไม่ได้มีข้อตกลงชัดแจ้งไม่ให้จำเลยหักผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน ๕ ปีก่อนระยะเวลาบัญชีปัจจุบันเสียก่อน จำเลยก็ย่อมมีสิทธิหักผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวได้ตามที่บัญญัตไว้ในประมวลรัษฎากรโจทก์จำเลยตกลงกันให้ถือเอาผลการตรวจสอบบัญชีของสำนักผู้ตรวจสอบบัญชีมาเป็นหลักในการคำนวณเงินโบนัส โดยอ้างในอุทธรณ์เพียงประการเดียวว่ายอดเงินโบนัสไม่ถูกต้องเพราะจำเลยนำผลขาดทุนสุทธิ ๕ ปีสุดท้ายมาหักออกจากกำไรสุทธิ แต่ไม่ได้กล่าวอ้างว่ายอดเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ ๒๙,๖๗๒,๐๐๐ บาท ไม่ถูกต้องเพราะเหตุอื่น เมื่อข้ออ้างดังกล่าวข้างต้นฟังไม่ได้ ก็ต้องฟังว่าเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share