คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ต. บิดาของโจทก์ที่ 2 ได้รับพระราชทานตราตั้งและพระครุฑจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้กิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังเมื่อปี 2464 แสดงให้เห็นว่ากิจการค้าทองของห้างตั้งโต๊ะกังเป็นกิจการค้าทองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” เมื่อปี 2528 หลังจากกิจการห้างทองตั้งโต๊ะกังมีชื่อเสียงมาถึงประมาณ 64 ปี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 มาใช้ประกอบเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่างๆ เช่นเดียวกับกิจการของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต และที่จำเลยทั้งสี่ติดป้ายประกาศชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเน้น คำว่า “โต๊ะกัง” และใช้ตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า “บุญสิริ” มาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาไม่สุจริตแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยทั้งสี่เป็นกิจการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421
โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่าโต๊ะกังประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” หรือคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ทั้งที่เป็นภาษาไทย จีน และภาษาอังกฤษจะได้รับการจดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.ลักษณะเครื่องหมายแลยี่ห้อการค้าขาย พระพุทธศักราช 2457 และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 แต่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวกับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองผลิตออกจำหน่ายตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิดีกว่านั้นได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้น
การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1) มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม โจทก์ทั้งสองฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว คดีของโจทก์ทั้งสองที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นจึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองที่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป มาใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ เช่นเดียวกับของโจทก์ทั้งสอง กับถือโอกาสนำเครื่องหมายการค้าทั้งห้าไปยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าดังกล่าวในจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวก ด้วยเห็นว่าขณะนั้นโจทก์ที่ 2 ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีน คำว่า “โต๊ะกัง” และ คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” กับสินค้าจำพวกที่ 14 ดังกล่าว ทั้งยังแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ชอบมาตั้งเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์ทั้งสอง พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าทั้งห้าดังกล่าวโดยมีเจตนาไม่สุจริต และมีเจตนาเพื่อทำลวงขายสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ว่าเป็นของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์ที่ 2 จะยังมิได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 14 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และแม้โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม โจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลวงขายนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ
โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายอักษรไทยและจีน คำว่า “โต๊ะกัง” และ คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ที่ยังไม่จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ไม่อาจจะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้นกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า.2474 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ศาลชอบที่จะพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสี่ได้เพียงมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นกับสินค้าจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวกในลักษณะที่เป็นการลวงขายสินค้าดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้หรือให้เลิกใช้ชื่อนิติบุคคลคำว่า “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” เป็นชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 หรือมิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “ตั้งโต๊ะกังยิ่งเฮง” และคำว่า “จิวโต๊ะกังยิ่งเฮง” ตามคำขอเลขที่ 219918 และ 219916 และเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า “จิวเตาะกังยิ้งเฮ็ง” “ตั๊งเตาะกังยิ้งเฮ็ง” และ “จิวเตาะกัง” ตามคำขอเลขที่ 459058, 459059 และ 459051 ตามลำดับ และห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องกับฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยทั้งสี่ตกลงมอบเงินค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่องค์กรการกุศลต่าง ๆ ให้โจทก์ทั้งสองโฆษณาผลของคำพิพากษาซึ่งจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีกับให้โจทก์ทั้งสองขอขมาในการกระทำละเมิดต่อชื่อเสียงของจำเลยทั้งสี่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ สยามรัฐ และคมชัดลึก ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ และหนังสือพิมพ์ภาษาจีน 5 ฉบับ ซึ่งตีพิมพ์ในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 7 วัน ด้วยค่าใช้จ่ายของโจกท์ทั้งสองเอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า “ตั้งโต๊ะกังยิ่งเฮง” คำขอเลขที่ 219918 “จิวโต๊ะกังยิ่งเฮง” คำขอเลขที่ 219916 “จิวเตาะกังยิ้งเฮ็ง” คำขอเลขที่ 459058 (คำขอเดิมเลขที่ 219920) “ตั้งเตาะกังยิ้งเฮ็ง” คำขอเลขที่ 459059 (คำขอเดิมเลขที่ 219922) และ “จิวเตาะกัง” คำขอเลขที่ 459051 (คำขอเดิมเลขที่ 217664) (ที่ถูกให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “ตั้งโต๊ะกังยิ่งเฮง” และคำว่า “จิวโต๊ะกังยิ่งเฮง” ตามคำขอเลขที่ 219918 และ 219916 ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า “จิวเตาะกังยิ้งเฮ็ง” คำว่า ตั๊งเตาะกังยิ้งเฮ็ง” และคำว่า “จิวเตาะกัง” ตามคำขอเลขที่ 459058 (คำขอเดิมเลขที่ 219920), 459059 (คำขอเดิมเลขที่ 219922) และ 459051 (คำขอเดิมเลขที่ 217664) ตามลำดับ) และห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสี่ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และเฉพาะส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งนั่งพิจารณาคดีได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” หรือไม่ …จากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยทั้งสี่เห็นได้ว่า กิจการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองที่ดำเนินกิจการอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นกิจการที่ได้รับสืบทอดกันมาตามลำดับชั้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มต้นจากนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ปู่โจทก์ที่ 2 นายเต็กกวง ตั้งโต๊ะกัง บิดาโจทก์ที่ 2 และตกทอดมาถึงชั้นบุตรคือ โจทก์ที่ 2 ในบัจจุบันชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในปัจจุบันมีที่มาจากชื่อตัวและสกุลของปู่และบิดาโจทก์ที่ 2 ดังกล่าว และข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นที่ว่า เมื่อปี 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายเต็กกวงเจ้าของยี่ห้อตั้งโต๊ะกังเป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมกับพระราชทานตราตั้งและพระครุฑให้ใช้ในกิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังนั้น แสดงให้เห็นว่านายเต๊กกวงได้ใช้คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นชื่อทางการค้าสำหรับกิจการห้างทองตั้งโต๊ะกัง และใช้กับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนปี 2464 แล้ว และต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2483 นายเต็กกวงจึงได้จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 โดยนำชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” มาใช้เป็นชื่อห้างโจทก์ที่ 1 ว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งโต๊ะกัง” มีวัตถุประสงค์ทำการค้าสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ โดยมีนายเต็กกวงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และนายเต็กกวงใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ทั้งอักษรไทย จีน และอังกฤษ ที่นายเต็กกวงได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าทองและสินค้าต่าง ๆ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2468 ตามพระราชบัญญัติลักษณะเครื่องหมายแลยี่ห้อการค้าขาย พระพุทธศักราช 2457 เมื่อนายเต็กกวงถึงแก่ความตายในวันที่ 13 มิถุนายน 2487 นางเหลือบภริยานายเต็กกวงซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ 2 ได้เป็นผู้จัดการมรดกและสืบทอดกิจการค้าทองและสินค้าต่าง ๆ ดังกล่าวของนายเต็กกวงรวมทั้งหุ้นและกิจการของห้างโจทก์ที่ 1 โดยจดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2487 และต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2508 นางเหลือบจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ที่ 1 จากนั้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2515 นางเหลือบถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ได้รับมรดกรวมทั้งหุ้นในห้างโจทก์ที่ 1 และสิทธิต่าง ๆ ของนางเหลือบทั้งหมดรวมทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ทั้งที่เป็นอักษรไทย จีน และอังกฤษ โจทก์ที่ 2 ดำเนินกิจการค้าทองและสินค้าต่าง ๆ ของห้างโจทก์ที่ 1 โดยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ที่ใช้กับกิจการค้าทองของห้างทองตั้งโต๊ะกังซึ่งนายเต็กกวงบิดาโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเพราะโจทก์ที่ 2 ได้รับสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” อันเป็นทรัพย์มรดกของนางเหลือบมารดาโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับสิทธิในชื่อทางการค้านั้นมาจากการสืบทอดทรัพย์มรดกของนายเต็กกวง การที่นายเต็กกวงได้รับพระราชทานตราตั้งและพระครุฑจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้ในกิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังเมื่อปี 2464 แสดงให้เห็นว่ากิจการค้าทองของห้างตั้งโต๊ะกังเป็นกิจการค้าทองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า ” บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” เมื่อปี 2528 หลังจากกิจการห้างทองตั้งโต๊ะกังมีชื่อเสียงมาแล้วถึงประมาณ 64 ปี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 มาใช้ประกอบเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ เช่นเดียวกับกิจการของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสี่ติดป้ายประกาศชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ด้านหน้าอาคารซึ่งตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และทำป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ติดที่ระเบียงกันสาดชั้น 1 กับทำป้ายชื่อโฆษณาติดที่ชั้น 2 ของด้านขวาของอาคารยื่นออกมายังถนนโดยเน้นคำว่า “โต๊ะกัง” และใช้ตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า “บุญสิริ” มาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาไม่สุจริตแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยทั้งสี่เป็นกิจการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18, 420 และ 421
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ยังไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” หรือคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคำขอบังคับที่ไม่อาจทำได้ โดยการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 การพิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจประกอบกิจการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด” ได้อีก เป็นการระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองต่อไปอยู่ในตัวแล้ว หาจำต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่อาจทำได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวอีกไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ส่วนปัญหาว่าโจทก์ที่ 2 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ทั้งห้าเครื่องหมายดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 2 ผู้ได้รับการจดทะเบียนและมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนี้หรือไม่นั้น โจทก์ทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ทั้งที่เป็นตัวอักษรไทยและจีนกับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ โดยสืบทอดสิทธิของนายเต็กกวงบิดาโจทก์ที่ 2 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนปี 2463 ก่อนที่จำเลยทั้งสี่จะใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายกับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ทั้งที่เป็นอักษรไทยและจีนของโจทก์ที่ 2 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้าดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วเมื่อปี 2528 เป็นเวลานานถึงประมาณ 66 ปี โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ทั้งห้าเครื่องหมายดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 2 ผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 14 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 รายการสินค้า ของที่ทำด้วยโลหะอันมีค่าและเครื่องอาภรณ์ประดับกาย รวมทั้งของที่ทำเทียม ทั้งจำพวก แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ทั้งที่เป็นอักษรไทย จีน และอังกฤษจะได้รับการจดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติลักษณะเครื่องหมายแลยี่ห้อการค้าขาย พระพุทธศักราช 2457 และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวกับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองผลิตออกจำหน่ายตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิดีกว่านั้นได้ตามบทบัญญัติ มาตรา 41 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายดังกล่าว
ส่วนปัญหาว่าคดีของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 41 (1) มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 2 ได้รับการจดทะเบียนตามลำดับดังนี้ เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า อ่านว่าจิวเตาะกัง ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2535 เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า อ่านว่า ตั๊งเตาะกังยิ้งเฮ็ง ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2535 เครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “จิวโต๊ะกังยิ่งเฮง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกังยิ่งเฮง” ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 และเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่าอ่านว่า จิวเตาะกังยิ้งเฮ็ง ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2537 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2544 จึงยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว คดีของโจทก์ทั้งสองที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในส่วนนี้ทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่ได้ทำการลวงขายสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าทองและโลหะมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ทราบเป็นอย่างดีว่าสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองที่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปเพราะสินค้าของโจทก์ทั้งสองสั่งสมชื่อเสียงมานานจากการเป็นกิจการค้าทองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย แล้วจำเลยที่ 2 ยังนำเอาคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” มาใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ เช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสอง กับถือโอกาสนำเครื่องหมายการค้าทั้งห้าซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าไปยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าดังกล่าวในจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวก ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ด้วยเห็นว่าขณะนั้นโจทก์ที่ 2 ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” กับสินค้าจำพวกที่ 14 ดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 2 ถึง 4 ยังแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 คำว่า “โต๊ะกัง” โดยไม่ชอบ โดยนำมาตั้งเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า “บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ” เพื่อให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการบริษัทเป็นกิจการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าดังกล่าวโดยมีเจตนาไม่สุจริต และมีเจตนาเพื่อทำการลวงขายสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นว่าเป็นสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสอง มีเหตุผลให้เชื่อว่าบริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กรรมการบริษัทได้ผลิตสินค้าทองรูปพรรณและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ในลักษณะที่ให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวออกจำหน่าย ไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า “โต๊ะเฮง” กับเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “บุญสิริ” กับสินค้าของจำเลยทั้งสี่โดยไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายดังกล่าวดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย แม้โจทก์ที่ 2 จะยังมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” กับสินค้าจำพวกที่ 14 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 รายการสินค้าของที่ทำด้วยโลหะอันมีค่าและเครื่องอาภรณ์ประดับกายรวมทั้งของที่ทำเทียม และโจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม โจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลวงขายนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ชื่อห้างโจทก์ที่ 1 กับชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลคนละประเภท นายทะเบียนตรวจดูแล้วว่าไม่ซ้ำหรือเหมือนกัน จึงรับจดทะเบียนการใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นการใช้ชื่อตามที่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิด ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสี่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ทั้งสองอ้างโจทก์ทั้งสองจึงนำเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดไม่ได้ และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ลวงขายสินค้าว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสองและไม่เคยละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นโดยละเอียดแล้วว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาไม่สุจริตแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบและเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยทั้งสี่เป็นกิจการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ของโจทก์ที่ 2 และการที่บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กรรมการบริษัทได้ผลิตสินค้าทองรูปพรรณและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้าออกจำหน่ายเป็นกระทำอันเป็นลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เช่นนี้ จำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” และลวงขายสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “ตั้งโต๊ะกังยิ่งเฮง” และคำว่า “จิวโต๊ะกังยิ่งเฮง” กับเครื่องหมายการค้าอักษรจีนอ่านว่า จิวเตาะกังยิ้งเฮ็ง ตั๊งเตาะกังยิ้งเฮ็งและจิวเตาะกัง ที่จำเลยที่ 2 ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 กับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ 2 ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า “โต๊ะกัง” และคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนคงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ทั้งห้าเครื่องหมายโดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้านั้น และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่สำหรับการที่จำเลยทั้งสี่ลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง ตามที่บทบัญญัติมาตรา 41 (1) และมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ให้ความคุ้มครองไว้ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นเท่านั้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจจะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้นกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ได้ ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสี่ได้เพียงมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นกับสินค้าจำพวกที่ 14 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 รายการสินค้า ของที่ทำด้วยโลหะอันมีค่าและเครื่องอาภรณ์ประดับกาย รวมทั้งของที่ทำเทียม ทั้งจำพวก ในลักษณะที่เป็นการลวงขายสินค้าดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสองอันเป็นละเมิดต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “โต๊ะกัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 นั้นเสีย ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “ตั้งโต๊ะกังยิ่งเฮง” และคำว่า “จิวโต๊ะกังยิ่งเฮง” กับเครื่องหมายการค้าอักษรจีนอ่านว่า จิวเตาะกังยิ่งเฮ็ง ตั๊งเตาะกังยิ้งเฮ็ง และจิวเตาะกัง กับสินค้าจำพวกที่ 14 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 รายการสินค้า ของที่ทำด้วยโลหะอันมีค่าและเครื่องอาภรณ์ประดับกาย รวมทั้งของที่ทำเทียม ทั้งจำพวกในลักษณะที่เป็นการลวงขายสินค้าดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง

Share