แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองโจทก์เนื่องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนระหว่างการพิจารณาคดี แต่ผู้ที่ทำให้โจทก์เดือดร้อนคือ บริษัท ด. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่จำเลย ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของโจทก์ให้กระทบกระเทือนถึงบริษัท ด. หาได้ไม่ การที่จำเลยออกสิทธิบัตรให้บริษัท ด. เป็นเหตุให้บริษัท ด. อ้างสิทธิจากสิทธิบัตรมาออกหนังสือบังคับมิให้โจทก์ทำการซื้อขายหรือผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาออกสิทธิบัตร ทั้งจำเลยไม่ได้ร่วมกับบริษัท ด. ออกหนังสือห้ามมิให้โจทก์ทำการซื้อขายหรือผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร ส่วนการที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทำการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรได้โดยมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัท ด. ศาลก็มิอาจสั่งได้เพราะตราบใดที่ยังมิได้มีการเพิกถอนสิทธิบัตร บริษัท ด. ย่อมมีสิทธิห้ามมิให้บุคคลอื่นทำการซื้อขายหรือผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรได้ ศาลจะอนุญาตให้โจทก์กระทำการใด ๆ ที่เป็นการขัดต่อสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรโดยมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรไม่ได้ โจทก์จึงไม่อาจขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่าย อุปกรณ์การเกษตร โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางและโลหะทุกชนิด โจทก์ที่ 3 ประกอบกิจการโรงงานตัด ปั๊มเหล็กแผ่น ผลิตอะไหล่รถไถนาและชิ้นส่วนผานจาน ใช้ชื่อในทางการค้าว่า “ชัยเจริญโลหะกิจ” โจทก์ที่ 4 ประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรทุกชนิด ใช้ชื่อในทางการค้าคำว่า “P.S.M. โลหะ” จำเลยเป็นนิติบุคคลในฐานะกรม สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจดูแลเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มีนายทะเบียนสิทธิบัตรเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลย โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าโลหะสำหรับการเกษตรหลายประเภทมาเป็นระยะเวลายาวนาน รวมทั้งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทผานจานสำหรับรถไถนา ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับที่บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งออกโดยจำเลย เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2548 โจทก์ทั้งสี่ได้รับการติดต่อจากร้านค้าซึ่งซื้อสินค้าประเภทผานจานสำหรับรถไถนาจากโจทก์ทั้งสี่ไปจำหน่ายว่า บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ได้มีหนังสือถึงร้านค้าต่าง ๆ อ้างว่าบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในการออกแบบผลิตภัณฑ์ผานจานสำหรับรถไถนาดังกล่าว ให้ร้านค้าต่าง ๆ ระงับการจำหน่าย ผลิต หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าดังกล่าว มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าจำเลยได้ออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2548 เลขที่ 18331 โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 มาตรา 57 และมาตรา 64 เนื่องจากแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใหม่ โจทก์ทั้งสี่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ดำเนินธุรกิจโรงงานซึ่งผลิตและจำหน่ายผานจานสำหรับรถไถนาเช่นเดียวกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยออกให้แก่บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด การที่จำเลยออกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้แก่บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่อาจถูกบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ดำเนินคดีฐานละเมิดสิทธิบัตร รวมทั้งทำให้ลูกค้าของโจทก์ทั้งสี่ไม่สั่งซื้อสินค้าที่โจทก์ทั้งสี่ผลิต เพราะเกรงจะถูกบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ดำเนินคดีเช่นกัน ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18331 ที่จำเลยออกให้แก่บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยเพื่อยื่นคำให้การโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวว่า หลังจากจำเลยออกสิทธิบัตรให้บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด แล้วบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ได้มีหนังสือบอกกล่าวห้ามมิให้บุคคลในแวดวงทำการผลิต ซื้อขายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถทำการผลิตและจัดจำหน่ายได้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิโดยชอบในการผลิต จัดจำหน่ายและใช้ผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรโดยให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่โจทก์ทั้งสี่จะได้รับจนกว่าศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า เมื่อสิทธิบัตรเลขที่ 18331 ยังมิได้ถูกเพิกถอน ผู้ทรงสิทธิบัตรย่อมมีสิทธิตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 การผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสี่จะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง กรณียังไม่มีเหตุที่ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ตามคำร้องของโจทก์ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า คดีมีเหตุสมควรไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองโจทก์เนื่องจากจำเลยกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนระหว่างการพิจารณาคดี แต่ปรากฏตามคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ว่า ผู้ที่ทำให้โจทก์ทั้งสี่เดือดร้อนคือ บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่จำเลยในคดีนี้ ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ให้กระทบกระเทือนถึงบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่มีโอกาสต่อสู้คดีหาได้ไม่ ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าจำเลยรับรองสิทธิในสิทธิบัตรโดยออกสิทธิบัตรให้บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เป็นเหตุให้บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด อ้างสิทธิจากสิทธิบัตรมาออกหนังสือบังคับมิให้โจทก์ทั้งสี่ทำการซื้อขายหรือผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรนั้น เห็นว่า การที่จำเลยออกสิทธิบัตรให้แก่บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรหากสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวมีลักษณะเข้าเงื่อนไขที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ ทั้งไม่ปรากฏตามคำฟ้องหรือคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยได้ร่วมกับบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ออกหนังสือห้ามมิให้โจทก์ทั้งสี่ทำการซื้อขายหรือผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรแต่อย่างใด ส่วนการที่โจทก์ทั้งสี่ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ทำการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรได้โดยมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด นั้น ศาลก็มิอาจสั่งได้เพราะในเบื้องต้นบริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรและมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้ ขายหรือเสนอขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 63 ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการเพิกถอนสิทธิบัตร บริษัท ดี. เอ็น. แมชินเนอรี่ (1980) จำกัด ย่อมมีสิทธิห้ามมิให้บุคคลอื่นทำการซื้อขายหรือผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรได้ ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการขัดต่อสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรโดยมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรไม่ได้ กรณีตามคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่โจทก์ทั้งสี่ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องโจทก์ทั้งสี่โดยไม่ไต่สวนนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
(เกรียงชัย จึงจตุรพิธ – สุวัฒน์ วรรธนะหทัย – ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช)