แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยทำสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่ลูกค้าวางเป็นประกัน เมื่อมีอัตราส่วนระหว่างมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันทำการถัดจากวันที่มูลค่าลดลงในอัตราดังกล่าว ประกาศนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์หรือลูกค้าโดยรวม การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ว่าหลักทรัพย์ของโจทก์ตามบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2539 มีอัตราส่วนลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ให้โจทก์ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม โดยไม่บังคับขายหลักทรัพย์ เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดังกล่าว ย่อมก่อความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ทันทีนับแต่วันที่จำเลยทั้งหกฝ่าฝืน เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แต่ไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์สำหรับข้อหานี้จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม แต่โจทก์มิได้วางประกันเพิ่มเติม ทั้งมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลงในสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัด พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์สมัครใจให้จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดจากวันที่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป โดยขณะขายหลักทรัพย์จะมีอัตราส่วนดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 20 ก็เป็นผลมาจากการผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระเงินหรือหาหลักประกันมาวางเพิ่มเติมตามสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยทั้งหกได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือได้กระทำการโดยทุจริต จึงมิใช่การเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์อันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ตามมาตรา 309 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 113, 114, 282, 283, 309 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ระหว่างเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเดินสะพัดเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์และทำสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยใช้หลักทรัพย์ที่โจทก์สั่งซื้อเป็นประกัน โจทก์ต้องชำระราคาหลักทรัพย์ที่สั่งซื้อร้อยละ 40 ให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 ที่จำเลยที่ 1 ออกเงินทดรองชำระราคาแทนโจทก์ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราส่วนในการให้กู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์วางประกัน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2538 ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 และฉบับที่ 8 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 กำหนดให้บริษัทสมาชิกหรือบริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่ลูกค้าวางเป็นประกันเมื่อมีอัตราส่วนระหว่างมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกัน เท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันทำการถัดจากวันที่มูลค่าลดลงในอัตราดังกล่าว ในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า หลักทรัพย์ของโจทก์ตามบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2539 มีอัตราส่วนลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ให้โจทก์ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติมเป็นจำนวนมูลค่าที่กำหนดเพื่อให้มีอัตราส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 มิฉะนั้นหากปรากฏว่าเมื่อใดที่อัตราส่วนดังกล่าวเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 จำเลยที่ 1 จะพิจารณาขายหลักทรัพย์ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดังกล่าว ต่อมาระหว่างวันที่ 11 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป โดยโจทก์ไม่ได้สั่งให้ขาย ซึ่งขณะนั้นอัตราส่วนดังกล่าวลดลงเหลือร้อยละ 20 โจทก์จึงมอบให้ทนายความไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งหก อัยการสูงสุดชี้ขาดสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้งหก มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์มีมูลหรือไม่ เห็นว่า ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดให้บริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่ผู้กู้ยืมหรือลูกค้าวางประกันไว้ในวันทำการถัดจากวันที่อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกัน หักด้วยหนี้ ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือลูกค้าโดยรวม เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อประกาศนั้นขึ้นแล้ว ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำหน้าที่โดยทุจริตของจำเลยทั้งหกผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์อันเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว การกระทำนั้นย่อมเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทันทีนับแต่วันที่จำเลยทั้งหกฝ่าฝืน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แต่ไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์สำหรับข้อหาความผิดนี้จึงเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างประการแรกว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์โดยฝ่าฝืนต่อประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ได้ความว่า อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกัน หักด้วยหนี้ ต่อมูลค่าหลักทรัพย์ของโจทก์ที่วางเป็นประกันลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกจะต้องดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ผู้เป็นลูกค้าในวันทำการถัดจากวันดังกล่าวตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยทั้งหกไม่ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดไปดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2539แจ้งโจทก์ให้ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม มิฉะนั้นจะบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ที่วางเป็นประกันไว้ แต่โจทก์ก็มิได้วางประกันเพิ่ม ทั้งมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลงในสัญญาตัวแทนนายหน้า และบัญชีเดินสะพัดและปรากฏว่าในระหว่างนั้นได้มีข่าวสารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยแพร่ไปยังสมาชิกและลูกค้าว่า ให้บริษัทสมาชิกใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบังคับขายหลักทรัพย์ของลูกค้าได้ตามสำเนาข่าวตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป โดยโจทก์ไม่ได้สั่งให้ขาย โจทก์จึงมอบให้ทนายความไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่ได้สั่งขายตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงแสดงว่า โจทก์สมัครใจให้จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไปในวันถัดจากวันที่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในกรณีนี้ไม่มีอำนาจฟ้องคดีตามข้อหาดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแต่โจทก์ไม่ชำระเงินและไม่หาหลักทรัพย์มาประกันเพิ่มเติมตามหนังสือดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กรรมการได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป แม้ในขณะที่ขายหลักทรัพย์จะมีอัตราส่วนดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 20 ก็เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า การขายหลักทรัพย์ของโจทก์เป็นผลมาจากการผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระเงินหรือหาหลักประกันมาวางเพิ่มเติมตามสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ประกอบกับหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่แจ้งไปยังโจทก์เท่านั้น โดยไม่ได้ความว่าการขายหลักทรัพย์ของโจทก์นั้น จำเลยทั้งหกได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือได้กระทำการโดยทุจริต จึงมิใช่กรณีการเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์อันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ดังที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นความผิดอีกประการหนึ่งตามมาตรา 309 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีนี้เป็นการพิพาทกันทางแพ่ง ชอบที่คู่กรณีจะไปว่ากล่าวกันทางแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.