คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5096/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เรื่องจ้างทำของโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์พิมพ์งาน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้โดยบรรยายฟ้องในเรื่องมูลหนี้ที่เกิดจากการพิมพ์งานของโจทก์เช่นเดียวกับในคดีเดิม โดยบรรยายอีกว่าเป็นการว่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องเป็นเรื่องละเมิดก็เพียงเพื่อให้ความรับผิดของจำเลยทั้งสองอยู่ในรูปแบบของนายจ้างลูกจ้างเท่านั้น การกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 กรอกรายการในใบเสร็จรับเงินให้เป็นของบริษัท ด. เป็นการประทุษร้ายต่อสิทธิในการรับเงินค่าจ้างของโจทก์ก็มีผลเท่ากับโจทก์ยังคงกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้โจทก์พิมพ์งานเช่นในคดีเดิม จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำงานพิมพ์ของจำเลยที่ 1 มาจ้างโจทก์ให้พิมพ์สิ่งพิมพ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ในการส่งมอบงานโจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ณ. ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบแทนจำเลยที่ 1 ส่วนการชำระค่าจ้างจำเลยที่ 1 จะนัดให้โจทก์ไปรับภายหลังเมื่อจำเลยที่ 2 ขออนุมัติจากจำเลยที่ 1 แล้วเสร็จ ภายหลังจำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินค่าจ้าง โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน ต่อมาภายหลังโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 2 นำงานที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ไปกรอกรายการในใบเสร็จรับเงินของบริษัทเดอะ แคมเพน จำกัด แสดงให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นบริษัทที่พิมพ์สิ่งพิมพ์ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์ทวงถามในฐานะที่เป็นผู้พิมพ์สิ่งพิมพ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน จำเลยที่ 1 จึงทราบและให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับผิดรับใช้ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการประทุษร้ายต่อสิทธิในการรับเงินค่าจ้างของโจทก์เป็นการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นราคาทรัพย์สิน (สิ่งพิมพ์) เป็นต้นเงินจำนวน 81,427 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2537 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 54,963 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 136,390 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ทำไปในทางการที่จ้าง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 136,390 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 81,427 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 14318/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 8726/2544 ของศาลแพ่งหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 14318/2541 ของศาลแพ่ง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 14318/2541 ของศาลแพ่งหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เรื่องจ้างทำของ ในคดีหมายเลขแดงที่ 14318/2541 ของศาลแพ่ง โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์พิมพ์งานพิพาท โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย คดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวเทนของจำเลยที่ 1 ในการว่าจ้างโจทก์พิมพ์งานตามฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2544 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14318/2541 ของศาลแพ่ง และโจทก์ยังเคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจัดการงานนอกสั่งซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 14318/2541 ของศาลแพ่ง รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หมายเลขแดงที่ 7685/2546 ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 8726/2544 ของศาลแพ่ง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้โดยบรรยายฟ้องในเรื่องมูลหนี้ที่เกิดจากการพิมพ์งานของโจทก์เช่นเดียวกับในคดีเดิมทั้งสอง โดยบรรยายอีกว่าเป็นการว่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องเป็นเรื่องละเมิดก็เพียงเพื่อให้ความรับผิดของจำเลยทั้งสองอยู่ในรูปแบบของนายจ้างลูกจ้างเท่านั้น การกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 กรอกรายการในใบเสร็จรับเงินให้เป็นของบริษัทเดอะ แคมเพน จำกัด เป็นการประทุษร้ายต่อสิทธิในการรับเงินค่าจ้างของโจทก์จึงมีผลเท่ากับโจทก์ยังคงกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้โจทก์พิมพ์งาน เช่นในคดีเดิมซึ่งมีคำพิพากษาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share