คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10990/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียงปรับบทลงโทษเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้จำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฆ่าผู้ตายก็เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดนั้น แม้การฆ่าจะกระทำในสถานที่ต่างกัน แต่ก็กระทำเพียงวัตถุประสงค์เดียวกัน และกระทำในเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ,91, 276, 288, 340 ริบมีดของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย, 288 ประกอบมาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 25 ปี และฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 17 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 อายุเพียง 13 ปี แม้ไม่ต้องรับโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 แล้ว เห็นควรส่งจำเลยที่ 4 ไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนกว่าจะมีอายุครบสิบแปดปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย, 276 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 83 ให้เรียกกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 2 ฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษประหารชีวิต ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุก 8 ปี เมื่อความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายลงโทษประหารชีวิต จึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานความผิดอื่นมารวมได้อีก ให้ลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว (ที่ถูก ต้องลดโทษก่อนรวม) แต่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด เป็นการลุแก่โทษเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกคนละ 25 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกคนละ 8 ปี จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอดเป็นการลุแก่โทษ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 คนละ 16 ปี 6 เดือน ริบของกลาง และคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งห้าไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อลดโทษแล้วคงจำคุก 12 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียงปรับบทลงโทษเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้จำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้ไขเล็กน้อย โดยปรับบทเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแล้ว ยังคงให้ส่งตัวจำเลยที่ 4 ไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ถูกลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายอีกกรรมหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำร้ายจนผู้ตายหมดสติและค้นหาทรัพย์สินในตัวผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันจะฆ่าผู้ตายเพื่อปล้นเอารถจักรยานยนต์ของผู้ตายด้วย แล้วจำเลยที่ 2 กลับไปเอามีดปลายแหลมของกลางที่บ้านนายหมวกมาให้จำเลยที่ 1 ใช้ฆ่าผู้ตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้นำผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ไปฆ่ายังริมคลองที่เกิดเหตุ แล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้ตายกลับไปสมทบกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฆ่าผู้ตายก็เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อปกปิดการกระทำความผิดนั้น แม้การฆ่าจะกระทำในสถานที่ต่างกัน แต่ก็กระทำเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน และกระทำในเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ให้จำคุกเพียง 8 ปี ต่ำกว่าโทษที่กฎหมายกำหนดนั้นไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาโต้แย้ง จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาต้องแก้ไข”
พิพากษายืน

Share