คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10987/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง ก็เพียงแต่ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ส่วนการตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ศาลจะต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าววรรคท้ายซึ่งบัญญัติว่า “การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์” กรณีนี้เป็นกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ศาลจึงต้องตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ผู้คัดค้านทั้งสองต้องการเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายบางอย่างเป็นของผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งเป็นปรปักษ์กับกองมรดกอย่างชัดแจ้ง การขอเป็นผู้จัดการมรดกก็เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้คัดค้านทั้งสองเอง นอกจากนั้นการที่ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่า เหตุที่ขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพราะไม่ไว้ใจผู้ร้องทั้งสองทำให้เห็นว่าหากให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องทั้งสอง ก็น่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการมรดกมากกว่าจะเป็นประโยชน์

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างพิจารณาคู่ความทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4077 และ 4394 ร่วมกับผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายจำนน ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายส่วนผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ มีทรัพย์มรดกตกทอดมายังทายาท คือเงินฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครสวรรค์ จำกัด ที่ดิน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และที่ดินซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับผู้คัดค้านทั้งสองในที่ดินโฉนดเลขที่ 4077 และ 4394 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า ผู้คัดค้านทั้งสองสมควรที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง ก็เพียงแต่ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ส่วนการตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ศาลจะต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้นวรรคท้ายซึ่งบัญญัติว่า “การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์” กรณีนี้เป็นกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ศาลจึงต้องตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ผู้คัดค้านทั้งสองต้องการเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายบางอย่างเป็นของผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งเป็นปรปักษ์กับกองมรดกที่มีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของอย่างชัดแจ้ง การขอเป็นผู้จัดการมรดกก็เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้คัดค้านทั้งสองเองหาใช่เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของกองมรดกไม่ นอกจากนั้นการที่ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่า เหตุที่ขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพราะไม่ไว้ใจผู้ร้องทั้งสอง ทำให้เห็นว่าหากให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องทั้งสอง ก็น่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการมรดกมากกว่าจะเป็นประโยชน์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share