แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาและคำสั่ง จำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์คำพิพากษาให้แก่โจทก์อันถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจจำหน่ายคดีจากสารบบความหรือไม่ก็ได้ เมื่อคำแก้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์มีเนื้อหาที่เป็นการแก้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของจำเลยแล้วพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
จำเลยนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปซื้อสินค้ารวม 11 รายการจากร้าน จ. แต่ตามใบเรียกเก็บเงินมีการนำเงินค่าสินค้ามาจากร้านดังกล่าวทั้งหมดคืนเข้าบัญชีเป็นเครดิตของจำเลย เนื่องจากจำเลยโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้นำบัตรไปใช้ โจทก์จึงพักการเรียกเก็บเงินเป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบก่อน เหตุผลหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ยังไม่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้อายุความจึงยังไม่เริ่มนับจนกว่าได้ตรวจสอบเอกสารอ้างอิงแล้วเสร็จและมีการเรียกเก็บเงินใหม่ และจำเลยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามกำหนด อายุความจึงจะเริ่มนับตั้งแต่พ้นกำหนดเวลาที่โจทก์กำหนดให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นต้นไป
โจทก์มีใบเรียกเก็บเงินจากจำเลยลงวันที่ 2 เมษายน 2540 โดยระบุเลิกการพักยอดเรียกเก็บเงินชั่วคราว และให้จำเลยชำระค่าซื้อสินค้าต่างๆ รวมทั้งสินค้าจากร้าน จ. 11 รายการ ที่พักยอดเรียกเก็บชั่วคราวภายใน 30 วัน ซึ่งจำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมสามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 1 เมษายน 2542 จึงยังไม่เกิน 2 ปี ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรสของโจทก์ เพื่อใช้ซื้อสินค้าแทนเงินสดโดยโจทก์จะออกเงินทดรองก่อนแล้วเรียกเก็บจากจำเลยตามหลักฐานเรียกเก็บเงินเดือนละครั้ง จำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งใบเรียกเก็บเงิน หากผิดนัดโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และมีสิทธิคิดค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน คิดค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายจากการเรียกเก็บร้อยละ 2.5 ต่อเดือน จำเลยนำบัตรสมาชิกของโจทก์ไปซื้อสินค้าที่ร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 เป็นเงิน 371,281.68 บาท เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินจำเลยไม่ชำระเงินให้โจทก์โดยคัดค้านรายการใช้จ่ายจำนวน 11 รายการ ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ดำเนินการตรวจสอบยอดใช้จ่ายทั้ง 11 รายการ โดยได้ทำการพักยอดหนี้ดังกล่าวชั่วคราวเพื่อตรวจสอบ เมื่อโจทก์ตรวจสอบรายการใช้จ่ายทั้ง 11 รายการแล้ว เห็นว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามรายการทั้ง 11 รายการดังกล่าว จึงมีหนังสือยกเลิกการพักยอดเรียกเก็บเงินชั่วคราว และแจ้งให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 และวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2540 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาการใช้บัตรของจำเลยและเรียกให้จำเลยใช้เงินจำนวน 369,206.20 บาท ที่ยังคงเป็นหนี้แก่โจทก์ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน และค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายจากการเรียกเก็บเงินร้อยละ 2.5 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดชำระเงินที่โจทก์เรียกเก็บทั้งหมดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 230,000 บาทเศษ แต่โจทก์คิดเพียง 110,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 479,206.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 479,206.20 บาท พร้อมค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน และค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายจากการเรียกเก็บเงินร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 369,206.20 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าพิพาทในคดีนี้จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องและสามารถใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2539 แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างนัดสืบพยานจำเลย จำเลยขอเลื่อนการพิจารณาโดยอ้างว่าทนายจำเลยหรือจำเลยป่วยรวม 4 ครั้ง ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 369,206.20 บาท พร้อมค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน และค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายจากการเรียกเก็บเงินร้อยละ 2.5 ต่อเดือนนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 ถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2542) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 จนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรสของโจทก์ โดยจำเลยมีสิทธินำบัตรไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าและบริการจากสถานประกอบการและถอนเงินสดจากธนาคารที่เป็นสมาชิกของโจทก์ และโจทก์ตกลงออกเงินทดรองจ่ายให้แก่สถานประกอบการและธนาคารแทนจำเลยไปก่อนแล้วจึงรวบรวมหลักฐานเรียกเก็บเงินจากจำเลย จำเลยจะต้องชำระเงินที่เรียกเก็บแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งใบเรียกเก็บเงิน หากผิดนัดโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับในรูปของค่าทดแทนการออกเงินทุนไปก่อนและค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บวันที่ 2 กันยายน 2539 โจทก์ส่งใบเรียกเก็บเงินจากจำเลยระบุยอดเงินที่จำเลยจะต้องชำระจำนวน 573,205.73 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวได้รวมรายการซื้อสินค้าที่ร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ 11 รายการ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 รายการละ 33,564.20 บาท รวมเป็นเงิน 369,206.20 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 รวมอยู่ด้วย จำเลยคัดค้านว่าไม่ได้ใช้จ่ายตามรายการซื้อสินค้าที่ร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ ทั้ง 11 รายการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้พักยอดเรียกเก็บเงินจำนวน 369,206.20 บาท ตามรายการซื้อสินค้าที่ร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ 11 รายการ เป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบกับร้านค้าตามใบเรียกเก็บเงินตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 5 เมื่อโจทก์ตรวจสอบกับร้านค้าเสร็จแล้ว โจทก์ได้ยกเลิกการพักยอดเรียกเก็บชั่วคราวและได้ส่งใบเรียกเก็บเงินจากจำเลยอีกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 ตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.9 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 369,206.20 บาท ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2540 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาการใช้บัตรของจำเลยและเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวน 369,206.20 บาท แก่โจทก์ภายใน 10 วัน แต่จำเลยไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิพากษาชี้ขาดอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์คำพิพากษาให้แก่โจทก์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นอันถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ดังที่โจทก์ฎีกา แต่มาตรา 132 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจว่าสมควรจำหน่ายคดีจากสารบบความหรือไม่ หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสมอไปไม่ เมื่อคำแก้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์มีเนื้อหาที่เป็นการแก้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วยแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของจำเลยแล้วพิพากษาคดีนี้ไปได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีนายวรวุฒิ และนางสาวนพภรณ์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 จำเลยนำบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรสไปซื้อสินค้าที่ร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ 11 รายการ รายการละ 33,564.20 บาท รวมเป็นเงิน 369,206.20 บาท โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายให้แก่ร้านค้าไปแล้ว และได้เรียกเก็บเงินจากจำเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2539 ตามรายการซื้อสินค้าและใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 แต่จำเลยไม่ชำระเงินให้โจทก์ โดยโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้นำบัตรไปใช้ ตามระเบียบของโจทก์หากรายการเรียกเก็บเงินใดที่ลูกค้าโต้แย้ง โจทก์จะพักรายการเรียกเก็บเงินนั้นไว้ก่อน แล้วจะทำการตรวจสอบกับร้านค้าและในการพักเรียกเก็บเงินชั่วคราวนี้โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 5 โจทก์ตรวจสอบรายการใช้จ่ายของจำเลยทั้ง 11 รายการกับร้านค้า ปรากฏว่าจำเลยนำบัตรดังกล่าวไปใช้และจะต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงแจ้งยกเลิกการพักยอดเรียกเก็บชั่วคราวและให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.8 แต่จำเลยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 369,206.20 บาท เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 ตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.9 แต่จำเลยก็ไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์อีก จำเลยจึงต้องชำระค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน และค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายการเรียกเก็บเงินร้อยละ 2.5 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 110,000 บาท ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปซื้อสินค้ารวม 11 รายการ จากร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่ตามใบเรียกเก็บเงินลงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 มีการนำเงินค่าสินค้ามาจากร้านดังกล่าวทั้งหมดคืนเข้าบัญชีเป็นเครดิตของจำเลยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 ตามเอกสารหมาย จ.7 เนื่องจากจำเลยโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้นำบัตรไปใช้ โจทก์จึงพักการเรียกเก็บเงินเป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบกับร้านค้าก่อน และปรากฏตามใบเรียกเก็บเงินฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 ว่ามีรายการเรียกเก็บเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ ตามรายการเอกสารหมาย จ.5 ใหม่ แต่ในใบรายการเรียกเก็บเงินดังกล่าวมีข้อความว่ารายการสินค้าจากร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ ทั้งหมดให้พักยอดเรียกเก็บชั่วคราวเพื่อตรวจสอบเอกสารอ้างอิง ซึ่งมีความหมายชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ต้องชำระหนี้ตามรายการที่พักยอดเรียกเก็บชั่วคราว เพราะหากผลการตรวจสอบได้ความว่าจำเลยไม่ได้นำบัตรไปใช้ดังที่จำเลยกล่าวอ้างแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จึงต้องถือว่าการที่โจทก์พักยอดเรียกเก็บเงินไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบนี้เหตุผลหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ยังไม่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะได้ตรวจสอบเอกสารอ้างอิงแล้วเสร็จและมีการเรียกเก็บเงินใหม่และจำเลยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามกำหนด อายุความจึงจะเริ่มนับตั้งแต่พ้นกำหนดเวลาที่โจทก์กำหนดให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีใบเรียกเก็บเงินจากจำเลยลงวันที่ 2 เมษายน 2540 โดยระบุยอดเลิกการพักยอดเรียกเก็บเงินชั่วคราว และให้จำเลยชำระค่าซื้อสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าจากร้านจิอานิ เวอร์ซาเช่ 11 รายการ ที่พักยอดเรียกเก็บชั่วคราวภายใน 30 วัน ตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งจำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 จึงยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าจำเลยมีหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 369,206.20 แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวตามกำหนดเวลาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มและค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายการเรียกเก็บเงิน แต่การกำหนดค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน และค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายการเรียกเก็บร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลฎีกามีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 และเห็นสมควรกำหนดให้เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 อันเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาถึงวันฟ้องตามที่โจทก์มีคำขอ และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 369,206.20 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 ถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2542) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ