คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง โจทก์ไม่จำต้องระบุวรรคของบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยเนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ตรงตามโจทก์บรรยายฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามนั้น มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนร่วมกันลักโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินสดของผู้เสียหายไปโดยจำเลยกับพวกร่วมกันพูดขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะฆ่าผู้เสียหายให้ตายหากขัดขืน เพื่อให้ความสะดวกในการลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป และให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83 กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 120 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะผู้เสียหายเดินอยู่บริเวณปากซอยราชวิถี 36 จำเลยกับนายวีระยุทธ์ร่วมกันจับแขนและผลักหลังของผู้เสียหายเข้าไปในซอย แล้วนายวีระยุทธ์เอาเงินของผู้เสียหายไป ส่วนจำเลยเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไป จากนั้นจำเลยไปเรียกรถยนต์รับจ้างสาธารณะแล้วจำเลยกับพวกหลบหนีไปด้วยกัน แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้พูดขู่เข็ญผู้เสียหาย แต่จำเลยได้ร่วมกับนายวีระยุทธ์ผลักผู้เสียหายเข้าไปในซอยและอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุตลอดเวลากับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปด้วย หลังจากเกิดเหตุจำเลยไปเรียกรถยนต์รับจ้างสาธารณะแล้วหลบหนีไปพร้อมกับนายวีระยุทธ์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับนายวีระยุทธ์เพื่อชิงทรัพย์มาตั้งแต่ต้น จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ มิใช่มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ซึ่งหมายถึงมาตรา 339 วรรคแรก การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จึงเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) และ 192 วรรคแรก นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง โจทก์ไม่จำต้องระบุวรรคของบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ตรงตามโจทก์บรรยายฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามนั้น มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share