คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิของคู่ความที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่าขณะผู้ซื้อทรัพย์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยยื่นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 นั้น ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ เดิม มีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงไม่เป็นที่สุด ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ เดิม ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงชอบที่จะรับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไว้วินิจฉัย แม้ต่อมาขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 21)ฯ มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 309 ทวิ เดิม และให้ใช้ความในมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขใหม่แทน ซึ่งกำหนดให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นที่สุดก็ตาม แต่ไม่อาจนำมาใช้จำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากขณะผู้ซื้อทรัพย์ใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น บทบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จนเสร็จสำนวนและมีคำพิพากษามานั้น ย่อมเป็นการพิจารณาและพิพากษาโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดตรังบังคับคดีแทนศาลแพ่งซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,519,002.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดิน น.ส. 3 สารบบเล่ม 19 หน้า 14 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง น.ส. 3 ก. เลขที่ 212, 379, 380, 1088 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง น.ส.3 ก. เลขที่ 654, 255, 305 ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 8 แปลง ดังกล่าวออกขายทอดตลาด ในวันที่ 6 มกราคม 2547 ขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 4 คงเหลือเฉพาะแปลงที่ 3 ที่ยังขายไม่ได้
จำเลยยื่นคำร้องสองฉบับ มีใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยไม่ได้รับทราบประกาศการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสคัดค้านการขายทอดตลาด อีกทั้งการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายที่รวบรัดและสมคบกับผู้ซื้อทรัพย์ประมูลขายที่ดินของจำเลยต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการ และราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
นายอวิรุทธิ์ ผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินแปลงที่ 8 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดินแปลงที่ 8 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า คดีของผู้ซื้อทรัพย์ต้องห้ามอุทธรณ์เพราะในระหว่างที่อุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 309 ทวิ เดิม และให้ใช้ความตามมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขใหม่แทนโดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสองเป็นที่สุด จึงส่งผลให้อุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้วินิจฉัย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า สิทธิของคู่ความที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นอุทธรณ์ปรากฏว่าขณะผู้ซื้อทรัพย์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยยื่นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 นั้นยังอยู่ในช่วงเวลาที่มาตรา 309 ทวิ เดิม มีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงไม่เป็นที่สุด ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ เดิม ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงชอบที่จะรับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไว้วินิจฉัย แม้ต่อมาขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 309 ทวิ เดิม และให้ใช้ความในมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขใหม่แทน ซึ่งกำหนดให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นที่สุดก็ตาม แต่ไม่อาจนำมาใช้จำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากขณะผู้ซื้อทรัพย์ใช้สิทธิอุทธรณ์นั้นบทบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จนเสร็จสำนวนและมีคำพิพากษามานั้น ย่อมเป็นการพิจารณาและพิพากษาโดยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share