คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเบิกความเท็จหาจำต้องรอให้ศาลพิพากษาคดีที่จำเลยเบิกความเท็จเสียก่อนไม่ เพราะความผิดเกิดตั้งแต่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลในคดีนั้นแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองแถลงหมดพยานบุคคลและขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบบ้านพิพาท โจทก์แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ทนายของคู่ความถ่ายภาพบ้านพิพาททั้งสองหลังส่งศาล ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้คัดค้าน ทั้งได้ถ่ายภาพบ้านพิพาทส่งศาลแล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองพอใจคำสั่งศาลชั้นต้นและไม่ติดใจขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบบ้านพิพาทอีก และการที่ศาลจะไปเดินเผชิญสืบหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองหมดพยานที่จะนำเข้าสืบต่อศาลแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2530 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 273/2529 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนายมานัส นาคทอง โจทก์ นางสำราญ กัลณาจำเลย นางสมบุญ กัลณา ผู้ร้อง โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่าบ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาแก้ว อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นของจำเลยที่ 1 ปลูกมานานตั้งแต่จำเลยที่ 1 แต่งงานใหม่จนถึงปัจจุบันนานกว่า 60 ปี สามีชื่อหมื่นประคุณคณารักษ์ แต่งงานแล้วก็ยังอยู่บางท่าช้าง มีลูกสี่ห้าคนแล้วจึงย้ายมาอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าวร่วมกับสามีจนกระทั่งสามีตาย และทุกวันนี้ก็อยู่บ้านเลขที่ดังกล่าวไม่เคยย้ายไปอยู่ที่อื่น จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เรือนพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งสร้างมานาน 60 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อยู่ในบ้านพิพาทในฐานะผู้อยู่อาศัย คำเบิกความของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความเท็จ โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จความจริงบ้านเลขที่ 39 ปลูกมาประมาณ 15 ปี และเป็นบ้านของจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นบ้านของจำเลยที่ 1 และความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่งดังกล่าว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด1 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ปรับ 4,000 บาทจำเลยที่ 1 มีอายุถึง 82 ปี ศาลเห็นว่าชราภาพมากแล้ว เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 จึงให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 273/2529 ของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด โจทก์และจำเลยที่ 1ยังโต้เถียงกันเกี่ยวกับบ้านพิพาทอยู่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดนั้นเห็นว่า การฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จ หาจำต้องรอให้ศาลพิพากษาคดีที่จำเลยเบิกความเท็จเสียก่อนไม่ เพราะความผิดเกิดตั้งแต่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลในคดีนั้นแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาและพิพากษาคดีนี้มาถูกต้องแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบบ้านพิพาท แต่ศาลชั้นต้นให้โจทก์และจำเลยทั้งสองถ่ายภาพมาแสดงแล้วศาลชั้นต้นนำเอาชื่อป้ายซึ่งมีชื่อนายไพโรจน์ กัลณามาเป็นข้อวินิจฉัยโดยมิได้นำเอาภาพถ่ายบ้านพิพาทมาเป็นข้อวินิจฉัยเป็นการไม่ถูกต้องตามประเด็นเพราะจำเลยทั้งสองต้องการให้ศาลไปเดินเผชิญสืบจริง ๆ เพื่อให้ศาลได้เห็นว่า บ้านพิพาทมีสภาพเป็นส่วนควบกันจริงหรือไม่ศาลไม่ไปทำการเดินเผชิญสืบจึงถือว่าการนำสืบของจำเลยยังไม่หมดพยาน ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นั้นได้ความว่า เมื่อจำเลยทั้งสองแถลงหมดพยานบุคคลและขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบบ้านพิพาท โจทก์แถลงคัดค้านศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องไปเดินเผชิญสืบ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงมีคำสั่งให้ทนายโจทก์และทนายจำเลยทั้งสองถ่ายภาพพื้นบ้านพิพาท 2 หลังส่งศาล ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2531 เอกสารในสำนวนอันดับที่ 112ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้คัดค้าน จำเลยทั้งสองได้ถ่ายภาพบ้านพิพาทส่งศาลปรากฏตามคำแถลงลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 และภาพถ่ายบ้านพิพาทเอกสารอันดับที่ 114 และ 115 แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองพอใจตามคำสั่งของศาลชั้นต้น และไม่ติดใจขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบบ้านพิพาทแล้ว การที่ศาลจะไปเดินเผชิญสืบหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองหมดพยานที่จะนำเข้าสืบต่อศาลแล้ว
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า บ้านพิพาทเป็นส่วนควบกับบ้านเลขที่ 75 หรือไม่เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 แสดงว่าบ้านพิพาทไม่ได้เป็นส่วนควบกับบ้านเลขที่ 75 อยู่ในตัว กรณีถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะเบิกความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 เป็นธรรมดา ประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นหญิงและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 4,000 บาท อีกโสดหนึ่ง และให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share