คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 157, 162, 172, 173, 174, 179, 180, 340, 362, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีมีมูลว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า สำหรับความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองที่จังหวัดฉะเชิงเทราโดยไม่มีหมายจับ หมายค้น และไม่ได้เป็นความผิดซึ่งหน้า มีการหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำร้ายโจทก์ทั้งสอง บุกรุกเคหสถานของโจทก์ทั้งสองในเวลากลางคืน ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดบัญญัติหรือให้อำนาจจำเลยทั้งสิบสามกระทำเช่นนั้นต่อโจทก์ทั้งสองได้และการที่จำเลยทั้งสิบสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมต้องทราบว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงไม่สามารถอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นความผิดได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกจับกุมนายชาตรีหรือบอย กับพวกคือ นายบรรจงหรืออ๊อฟและนายศักดิ์ชัยหรือโต้ง และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งมีรายละเอียดและพฤติการณ์แห่งคดีว่า ก่อนจะจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุมนายชาตรีกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ (รถยนต์) ในเวลากลางคืน และนายชาตรีให้การว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวานให้มาลักรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 พ – 4566 กรุงเทพมหานคร จึงสอบสวนขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงและตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ระบุข้อความว่า พันตำรวจเอกสิทธิภาพ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสืบสวนปราบปราม อันได้แก่ จำเลยทั้งสิบสามนำตัวนายชาตรีไปสอบสวนขยายผลยังจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้ว ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (3) ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า มีการไปตรวจค้นบ้านโจทก์ทั้งสองในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายค้น อันเป็นการบุกรุกเคหสถานนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 เองว่า รถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง กรณีจึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาล ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองในขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิดส่วนนี้ด้วย เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) จึงไม่มีมูลในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
สำหรับความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จและนำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180 นั้น เห็นว่า ตามทางไต่สวนได้ความว่า การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของนายชาตรีกับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การที่ระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น แต่สาระสำคัญนั้นมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงหาใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ
ส่วนความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 ยอมรับว่ารถยนต์ที่ลักมาอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานนี้
สำหรับความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 นั้น โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ทางไต่สวนโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า สิ่งของที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เอาไปจากโจทก์ที่ 1 มีทั้งกระเป๋าสตางค์ เงิน 500 บาทเศษ โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด และโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า สิ่งของที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เอาไปจากโจทก์ที่ 2 มีทั้งเอกสารสัญญาซื้อขาย หัวรถสิบล้อ บัตรเอทีเอ็ม ใบขับขี่รถยนต์ตลอดชีพ และเงินอีก 28,000 บาท แต่กลับระบุในบันทึกการจับกุมว่า มีเงินเพียง 20,000 บาท เท่านั้น ซึ่งเงินอีก 8,000 บาท ไม่ได้ระบุไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์นั้น เห็นว่า ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่า มีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า คดีโจทก์ทั้งสองไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share