คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2467

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญา,ซื้อขายแปลสัญญา ความประสงค์ของคู่สัญญา

ย่อยาว

โจทย์จำเลยได้ตกลงทำสัญญากันมีข้อความว่า จำเลยจะส่งปูนซิเมนต์ ๗๐๐ ถังให้โจทย์ภายใน ๕ เดือน ถ้าโจทย์บอกให้จำเลยส่งปูนเมื่อใด จำเลยไม่ส่งให้ จำเลยยอมให้โจทย์ปรับถังละ ๑๒ บาท จำเลยส่งปูนให้โจทย์ ๒ คราว รวม ๑๐๐ ถัง ต่อมาโจทย์สั่งให้จำเลยส่งปูนให้โจทย์ ๓๐๐ ถัง จำเลยส่งปูนให้โจทย์ ๓ วันแรก ๕๐ ถังวันต่อมาอีก ๓๐ ถัง รุ่งขึ้นอีก ๕๐ ถัง รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งโจทย์มีหนังสือต่อว่าจำเลยแลสั่งให้จำเลยส่งปูนให้โจทย์อีก ๔๗๑ ถัง ในวันนั้น รุ่งขึ้นจำเลยส่งปูนให้โจทย์อีก ๓๐ ถัง โจทย์ไม่ยอมรับไว้ โจทย์จึงได้รับปูนจากจำเลยเพียง ๒๓๐ ถัง แลต้องซื้อที่อื่นอีก ๔๗๐ ถัง ต่างฝ่ายต่างฟ้องหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา
ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ วินิจฉัย ว่า ตามเหตุผลซึ่งกระทำให้คู่สัญญาเข้าทำสัญญาต่อกันความจริงโจทย์มิได้มีความประสงค์ที่จะใช้ปูนสิเมนต์มากมายดังจำนวนเช่นที่สั่งนั้นในคราวเดียวโจทย์จึงไม่มีเหตุที่จะถือว่า จำเลยทำผิดสัญญาในการที่จำเลยไม่ได้ส่งปูนให้โจทย์มากกว่า ๔๐๐ ถังในคราวเดียว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อวินิจฉัยคดีนี้คือจะต้องแปลคำว่า “ต้องการ” ที่ปรากฎอยู่ในสัญญาข้อ ๑ ซึ่งมีความว่า “ถ้านางหลี แต้สุจิ ต้องการปูนวันหนึ่งวันใด ถ้าบริษัทรัตนมาลาไม่มีปูนส่งให้ บริษัทรัตนมาลายอมให้นางหลี แต้สิจิปรับถังละ ๑๒ บาท ในจำนวนปูนที่นางหลีได้ซื้อจากที่อื่น” โจทย์กล่าวว่าถ้อยคำที่ใช้ในสัญญาต้องเข้าใจตามตัวอักษรนั้นเอง แลเมื่อมีคำว่า “ต้องการ” อยู่ในสัญญา โจทย์ก็มีสิทธิบริบูรณ์ที่จะสั่งให้จำเลยส่งเท่าใดก็ได้ ข้อนี้เห็นว่าแม้ถ้อยคำใดในสัญญาตามตัวอักษรจะมีความหมายโดยเฉภาะอย่างใดก็ดี การแปลสัญญาก็ควรแปลให้สมความตั้งใจของคู่สัญญาอย่างดีที่สุด ตามซึ่งแสดงต่อกันโดยถ้อยคำในสัญญานั้นทั้งฉบับ สัญญาฉบับนี้ปรากฎว่า ปูนนี้ผู้ขายจะส่งให้ถึง “ที่ตึกสร้างใหม่กำลังปลูกสร้าง ” ข้อนี้อาจเห็นได้ว่าจะต้องการปูนไปทำอะไรแต่ความข้อนี้ข้อเดียวไม่เพียงพอที่จะจำกัดสิทธิของโจทย์ซึ่งจะสั่งให้ส่งเปนจำนวนเท่าใด แต่สัญญาอีกข้อหนึ่งปรากฎว่าโจทย์ซื้อปูนนี้เพื่อใช้ในการสร้างตึกใหม่ เมื่อสัญญาข้อถัดลงมาจำเลยรับส่งปูนที่โจทย์ “ต้องการ” ดังนี้ จึงเปนการแน่ว่าจำนวนปูนที่โจทย์ “ต้องการ”นั้นสำหรับการสร้างตึกซึ่งกล่าวแล้ว แลปรากฎจากคำพยานว่าการสร้างตึกรายนี้ใช้ปูนราววันละ ๗ ถังก็พอ ฉนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯได้ ให้โจทย์รับปูนซิเมนต์ ๔๗๐ ถังจากจำเลยแลให้เงิน ๒๒๘๓ื บาทให้จำเลย

Share