แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จากผู้รับจำนองเดิม จำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 118,191,930.54 บาท แทนโดยจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ลดหนี้ของจำเลยที่ 1 กับภริยาที่โจทก์จะชำระแทนลงเหลือ 42,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยรับเงินมัดจำ 400,000 บาท ไปจากโจทก์และตกลงให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 4,800,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ชำระเงินบางส่วน 3,561,499.63 บาท ให้จำเลยที่ 2 และชำระเงิน 1,000,000 บาท ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องตามข้อกำหนดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำกับจำเลยที่ 2 แล้ว ระหว่างนั้นโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้บุคคลอื่นในราคา 70,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยา ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระโดยแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการทำนิติกรรมของโจทก์แล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ขายที่ดินทั้ง 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ก่อนหน้าโจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และภริยานั้น จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ร้องไว้ก่อน จากนั้นอีกวันผู้ร้องจึงทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ โจทก์อาศัยสิทธิจากการทำข้อตกลงดังกล่าวไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสอง จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นการตั้งข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นมาใหม่ต่างจากข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยผู้ร้องมิได้มุ่งขอบังคับเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ การร้องสอดของผู้ร้องจึงเสมือนเป็นอีกคดีหนึ่ง ผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องร้องสอดเข้ามาในคดีอย่างแท้จริง ทั้งมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับเงินค่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 4,800,000 บาท จากโจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5646, 10156, 10157, 13323 ถึง 13328, 13623, 13624, 17930, 17931 และ 18344 ถึง 18351 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่กระทำตามให้โจทก์วางเงิน ณ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตาก สาขาแม่สอดและให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมด ให้จำเลยที่ 2 รับเงินจากโจทก์ 40,337,482.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา MLR ต่อปีของต้นเงิน 34,333,944.57 บาท นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ถอนการยึดที่ดิน 21 แปลง ดังกล่าวในคดีหมายเลขแดงที่ ธ. 681/2546 ของศาลแพ่ง โดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดและทำการไถ่ถอนพร้อมมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินกับเอกสารการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่กระทำตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์นำเงินดังกล่าวพร้อมค่าธรรมเนียมถอนการยึดวาง ณ กรมบังคับคดี พร้อมให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ออกต้นฉบับโฉนดฉบับใหม่และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 28,261,499.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์และคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 นายศักดิ์การิยา ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 และชำระหนี้บางส่วนแทนจำเลยที่ 1 โดยอาศัยสิทธิตามบันทึกข้อตกลงการจะซื้อจะขายที่ดิน 21 แปลง ตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับผู้ร้อง โดยผู้ร้องเป็นฝ่าย “ผู้จะขาย” และโจทก์เป็นฝ่าย “ผู้จะซื้อ” ซึ่งก่อนหน้านั้น ผู้ร้องตกลงจะซื้อที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 ไว้ตามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับผู้ซื้อ โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยมีเจตนาฉ้อฉลผู้ร้องทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้จะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ผู้ร้องชอบที่จะยื่นฟ้องเพื่อบังคับตามสิทธิเป็นคดีใหม่ ไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จากผู้รับจำนองเดิม จำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 118,191,930.54 บาท แทนโดยจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงในการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ลดหนี้ของจำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์จะชำระแทนลงเหลือ 42,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกับโจทก์โดยรับเงินมัดจำ 400,000 บาท ไปจากโจทก์และตกลงให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 4,800,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ชำระเงินบางส่วน 3,561,499.63 บาท ให้จำเลยที่ 2 และชำระเงิน 1,000,000 บาท ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องตามข้อกำหนดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำไว้กับจำเลยที่ 2 แล้ว ระหว่างนั้นโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้บุคคลอื่นในราคา 70,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ไปติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระหนี้โดยแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการทำนิติกรรมของโจทก์แล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับเงินค่าที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามข้อตกลงจากโจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่กระทำให้โจทก์วางเงินที่สำนักงานบังคับคดี แล้วถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 รับเงินชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ส่วนเหลือพร้อมดอกเบี้ยจากโจทก์และถอนการยึดที่ดิน 21 แปลง ที่พิพาทในคดีที่มีการบังคับคดีโดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมกับไถ่ถอนจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่กระทำให้โจทก์วางเงินที่สำนักงานบังคับคดี แล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และหากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหาย 28,261,499.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ ส่วนผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ก่อนหน้าโจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และภริยาของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกับผู้ร้องไว้ก่อน จากนั้นอีกวันผู้ร้องจึงทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์อาศัยสิทธิจากการทำข้อตกลงไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันอันเป็นการฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นกรณีตั้งข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นมาใหม่ต่างไปจากข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยผู้ร้องมิได้มุ่งขอบังคับเกี่ยวกับทรัพย์ที่พิพาทเป็นสำคัญ การร้องสอดของผู้ร้องจึงเสมือนเป็นคดีพิพาทอีกเรื่องหนึ่ง โดยผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องร้องสอดเข้ามาในคดีอย่างแท้จริง ทั้งผู้ร้องมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) และไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ