คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21553/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับรายวันแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้
ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 (2), 65, 67, 70, 71 (ที่ถูก มาตรา 21, 40 (2) (3),41, 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 67 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 70) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารโดยเจ้าของไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน และปรับ 40,000 บาท และปรับวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2537 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 424 วัน เป็นเงิน 42,400 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารและห้ามใช้อาคาร จำคุก 3 เดือน และปรับ 40,000 บาท และให้ปรับรายวันวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2537 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 493 วัน เป็นเงิน 49,300 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 171,700 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ปรับจำเลยอีกในอัตราวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คดีถึงที่สุด จำเลยได้นำเงินค่าปรับ 171,700 บาท มาชำระต่อศาลชั้นต้น แต่ยังไม่ได้ชำระค่าปรับรายวัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งนัดพร้อมและหมายเรียกให้จำเลยมาศาลเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่จำเลยไม่มาศาลตามหมายเรียก ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลย แล้วออกคำบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับภายใน 30 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับ วันที่ 27 กรกฎาคม 2555 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยตามหมายจับและนำส่งศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยชำระค่าปรับครบถ้วนแล้ว ขอให้เพิกถอนการจับกุม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 จำเลยขอระยะเวลาหาเงินมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเนื่องจากค่าปรับมีจำนวนสูง โดยศาลอนุญาตให้จำเลยประกันตัวเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับ ต่อมาจำเลยไม่มาศาลตามนัด ศาลจึงออกหมายจับและปรับผู้ประกัน แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับรายวันตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น คิดเป็นค่าปรับจำนวน 1,059,600 บาท ระหว่างศาลออกหมายจับจำเลยมาเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลได้ออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระค่าปรับ เห็นได้ว่าค่าปรับมีจำนวนสูงมาก พฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับจึงให้ออกหมายกักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้เพิกถอนหมายจับของศาลชั้นต้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับตัวจำเลยและนำตัวจำเลยมาศาลแล้ว หมายจับก็เป็นอันสิ้นผลบังคับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยต่อไป จำเลยฎีกาว่า จำเลยมาศาลทุกนัดและตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทำให้เข้าใจได้ว่ารวมโทษปรับที่คำนวณจากวันกระทำความผิดถึงวันฟ้องและจากวันฟ้องจนกว่าจะมีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อจำเลยได้ชำระค่าปรับจึงไม่มีเหตุให้ออกหมายจับ โทษปรับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องต้องเป็นอัตราเดียวกันและขาดอายุความการบังคับโทษปรับตามคำพิพากษา ฎีกาของจำเลยไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยว่าหมายจับจำเลยสิ้นผลบังคับแล้ว เป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้ขาดอายุความบังคับค่าปรับตามคำพิพากษาแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับหรือยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับได้อีก เห็นว่า จำเลยเคยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2553 ว่าการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับมิได้ทำภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะยึดทรัพย์หรือกักขังไม่ได้เพราะคดีขาดอายุความบังคับตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า กรณีมิใช่จำเลยได้รับโทษตามคำพิพากษาแต่ยังไม่ครบถ้วนและได้หลบหนีไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 คดีจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยไม่ฎีกา คดีในส่วนนี้จึงถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยจะยกขึ้นฎีกาคัดค้านอีกไม่ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยยังมิได้ชำระค่าปรับรายวัน วันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เช่นนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ว่าให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share