คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสมกำหนดว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างนำเงินในส่วนของตนเข้าสมทบในกองทุนเงินสะสม ลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนเงินสะสมก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสม การที่จำเลยจัดตั้งกองทุนสะสมจึงเป็นการก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยกับลูกจ้าง โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินสะสมโดยอาศัยสิทธิที่โจทก์เป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสมไม่ใช่การใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกองทุนเงินสะสมประเภท 1 และเงินกองทุนเงินสะสมประเภท 2 ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,410,912.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 133,752 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อ พ.ศ.2518 จำเลยจัดตั้งกองทุนเงินสะสมและจัดทำระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสม โจทก์เป็นพนักงานจำเลยวันที่ 5 มกราคม 2525 ทำงานในตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าส่วนธุรการฝ่ายไร่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,410 บาท และสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสม ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2537 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและให้มีผลเลิกจ้างวันที่ 26 มิถุนายน 2537 จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย กับเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมเป็นเงินจำนวน 196,585 บาท แล้ววินิจฉัยว่ากองทุนเงินสะสมกำหนดว่านายจ้างกับลูกจ้างแต่ละฝ่ายจะนำเงินในส่วนของตนเข้าสมทบในกองทุนเงินสะสม และลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนเงินสะสมก็ต้องปฏิบัติตามที่ระเบียบกองทุนเงินสะสมได้กำหนดไว้ การจัดตั้งกองทุนเงินสะสมของจำเลยจึงเป็นการก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ก็โดยอาศัยสิทธิที่โจทก์เป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสม ซึ่งสิทธิในการเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเลิกจ้างวันที่ 26 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไป สิทธิในการเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2537 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมจนถึงวันฟ้องคดีนี้ โจทก์ฟ้องคดีเกิน 10 ปี แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเงินสะสมเพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่พนักงาน เมื่อพนักงานพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว เงินกองทุนเงินสะสมทั้งสองประเภทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนได้โดยไม่มีอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 นั้น เห็นว่า ระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสมที่จำเลยจัดตั้งขึ้น กำหนดไว้ว่านายจ้างกับลูกจ้างแต่ละฝ่ายจะนำเงินในส่วนของตนเข้าสมทบในกองทุนเงินสะสม และลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนเงินสะสมก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสม ดังนี้ การจัดตั้งกองทุนเงินสะสมของจำเลยจึงเป็นการก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์โดยอาศัยสิทธิที่โจทก์เป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสม กรณีมิใช่การใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ซึ่งอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเลิกจ้างวันที่ 26 มิถุนายน 2537 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมจากจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไป แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 เกินกำหนด 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share