แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถตู้คันเกิดเหตุนำ จ. จากโรงพยาบาลตาลสุมไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำเลยที่ 1 เปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกะพริบตลอดทาง โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ กรณีจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้มาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และเปิดไฟกะพริบ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะรับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นรถฉุกเฉิน และผู้ที่ขับรถฉุกเฉินจะต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ ทั้งโจทก์เองก็อ้างว่าเพิ่งออกจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร กำลังจะไปสนามกีฬาซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ก็ควรที่จะชะลอความเร็วรถลงเพื่อเปิดโอกาสให้รถที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินผ่านไปก่อน การที่โจทก์ไม่ชะลอความเร็วรถลงหรือหยุดรถจนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุที่เป็นรถฉุกเฉิน ซึ่งลักษณะการชนตามภาพเป็นลักษณะที่รถยนต์ของโจทก์พุ่งเข้าชนรถตู้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีส่วนขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากโจทก์เป็นผู้ก่อด้วยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 336,925 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 185,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทุกชั้นศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 1 ฬ – 1525 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลในรัฐบาล จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์ให้แก่โรงพยาบาลตาลสุมซึ่งอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 2 ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้คันหมายเลขทะเบียน ป – 2941 อุบลราชธานี พานางจงรักษ์ ซึ่งป่วยจากอาการคลอดผิดปกติไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถมาถึงสี่แยกถนนบูรพาในตัดกับถนนสรรพสิทธิ์ เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องต่อศาลแขวงอุบลราชธานี ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว โจทก์มิได้มีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุนำนางจงรักษ์จากโรงพยาบาลตาลสุมไปส่งที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำเลยที่ 1 เปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกะพริบตลอดทาง ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบ เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ กรณีจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้มาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และเปิดไฟกะพริบ ซึ่งสัญญาณอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะรับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นรถฉุกเฉิน และผู้ที่ขับรถฉุกเฉินจะต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ ทั้งโจทก์เองก็อ้างว่าเพิ่งออกจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร และกำลังจะไปสนามกีฬาซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ควรที่จะชะลอความเร็วรถลงเพื่อเปิดโอกาสให้รถที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินผ่านไปก่อน การที่โจทก์ไม่ชะลอความเร็วรถลงหรือหยุดรถจนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุที่เป็นรถฉุกเฉิน ซึ่งลักษณะการชนตามที่ปรากฏในภาพถ่าย เป็นลักษณะที่รถยนต์ของโจทก์เป็นฝ่ายพุ่งเข้าชนรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีส่วนขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากโจทก์เป็นผู้ก่อด้วย และไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ