คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างของจำเลยขับรถในทางการที่จ้างชนสามีโจทก์ถึงแก่ความตายด้วยความประมาท โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้
เมื่อสามีโจทก์ยังมีชีวิตอยู่มีอาชีพตั้งปั๊มน้ำมันจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แม้โจทก์จะได้เป็นผู้จัดการมรดกเข้าดำเนินการค้าน้ำมันเบนซิน ต่อมาหลังจากสามีโจทก์ตายแล้ว ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่
ในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะนั้นย่อมต้องคำนวณโดยอาศัยพฤติการณ์ในวันเกิดเหตุนั้นเองเป็นหลักพฤติการณ์ทั้งหลายภายหลังวันเกิดเหตุ หาอาจนำมาพิจารณาในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนในการขาดไร้อุปการะของโจทก์ได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างขับรถของจำเลยได้ขับรถยนต์ชนนายหริ่งสามีโจทก์ถึงแก่ความตายโดยประมาทในทางการที่จ้าง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า คนขับรถมิใช่ลูกจ้างของจำเลยและมิได้ขับรถประมาททั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยใช้ค่าทำศพ ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คนขับรถเป็นลูกจ้างจำเลยและขับรถในทางการที่จ้างชนนายหริ่งสามีโจทก์ถึงแก่ความตายโดยประมาท
สำหรับค่าเสียหาย จำเลยฎีกาโต้เถียงเฉพาะค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ส่วนค่าปลงศพซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ๑๐,๐๐๐ บาท จำเลยไม่ติดใจจึงเป็นอันยุติ
ข้อที่จำเลยอ้างว่า เมื่อนายหริ่งถึงแก่ความตาย โจทก์เข้าทำงานในปั๊มน้ำมันของนายหริ่งต่อมา จึงไม่เสียหายนั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๓ วรรค ๓ บัญญัติว่า “ถ้าว่าเหตุที่ตายนั้น ทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” มาตรา ๑๔๕๓ วรรค ๒ บัญญัติว่า “สามีภรรยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน” และมาตรา ๑๔๕๔ บัญญัติว่า “สามีเป็นหัวหน้าในคู่ครองเป็นผู้เลือกที่อยู่ และเป็นผู้อำนวยการในเรื่องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู” เมื่อนายหริ่งตายโจทก์จึงตกเป็นผู้ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดต่อสามีโจทก์ได้ และคดีได้ความต่อไปว่าเมื่อนายหริ่งผู้ตายยังมีชีวิตอยู่มีอาชีพตั้งปั๊มน้ำมัน “ราชปรารภบริการ” จำหน่ายน้ำมันเบนซิน เดือนหนึ่งจำหน่ายน้ำมันได้ ๒๐๐,๐๐๐ ลิตร มีกำไรสุทธิเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท แม้โจทก์จะได้เป็นผู้จัดการมรดกเข้าดำเนินการค้าน้ำมันเบนซิน ต่อมาหลังจากนายหริ่งตายแล้ว ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ ในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูเพราะความประมาทของคนขับรถบรรทุกน้ำมันของจำเลยขณะปฏิบัติการในทางการที่จ้างนั้น ย่อมต้องคำนวณโดยอาศัยพฤติการณ์ในวันเกิดเหตุนั้นเองเป็นหลัก พฤติการณ์ทั้งหลายภายหลังวันเกิดเหตุดังที่จำเลยอ้างมานั้นหาอาจนำมาพิจารณาในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนในการขาดไร้อุปการะของโจทก์ได้ไม่ คำนวณค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์รวมเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จนั้น เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว
พิพากษายืน

Share