แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 4 ผู้ควบคุมเรือเพ็นนินซูล่าซึ่งมีหน้าที่ตรวจนับสินค้าและผูกโยงเชือกเรือไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือดังกล่าวได้เองต้องแล่นไปตามที่เรือยนต์จินดา 95 ลากจูงไปที่มี น. เป็นผู้ควบคุม จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขณะเกิดเหตุคือ น. ซึ่งขับเรือยนต์จินดา 95 ลากเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า เข้าไปในระยะกระชั้นชิดใกล้กับสะพานของท่าเทียบเรือ และเลี้ยวกลับเป็นเหตุให้เรือลำเลียงเพ็นนินซูล่ากระแทกเสาและคานของท่าเรือ จึงเป็นการกระทำประมาทเลินเล่อของ น. โดยตรง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที จำเลยที่ 4 ไม่อาจช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ จำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนประมาท จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน1,532,246.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,425,618 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 8,461,754.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,294,724 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 940,194.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 921,636 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 610,646.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามในส่วนที่ว่า จำเลยที่ 2 ใช้เรือเพ็นนินซูล่าประกอบกิจการขนส่งโดยไม่มีผู้ควบคุมหรือหากมีผู้ควบคุม ผู้ควบคุมเรือลำเลียงก็จะต้องคอยสอดส่องดูแลและประสานงานกับกัปตันเรือยนต์ลากจูงย่อมสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันเหตุในคดีนี้ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ควบคุมเรือเพ็นนินซูล่า และจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ไปอยู่ประจำเรือดังกล่าว โดยจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ผู้ได้รับอนุญาตหรือมีใบอนุญาต การที่จำเลยที่ 4 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ยอมรับเป็นผู้ดูแลบนเรือดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำละเมิด และศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า แม้จำเลยที่ 4 จะอยู่บนเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่าในขณะเกิดเหตุแต่ก็ไม่มีหน้าที่ควบคุมบังคับทิศทางการแล่นของเรือลำเลียง จำเลยที่ 4 จึงไม่ได้เป็นผู้ควบคุมเรือยนต์ที่เป็นยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล ซึ่งตามข้อเท็จจริงได้ความว่า การควบคุมเรือยนต์เป็นหน้าที่ของกัปตันเรือยนต์ลากจูงจินดา 95 ดังนั้น จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่เกิดแก่โจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามแล้ว โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์สรุปได้ความว่าเรือลำเลียงนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีเครื่องยนต์ก็ต้องมีผู้ควบคุม ซึ่งทะเบียนเรือเพ็นนินซูล่าก็ระบุชัดเจนว่ามีนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือปรากฏอยู่ การปล่อยให้เรือเพ็นนินซูล่าไปบรรทุกสินค้าโดยไม่มีผู้ควบคุมก็ยิ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแล้วก็ย่อมฟังเป็นการละเมิดตามกฎหมายที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นไม่ถูกต้อง ดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าวินิจฉัยประเด็นเรื่องเรือเพ็นนินซูล่ามีผู้ควบคุมหรือไม่ ไม่ถูกต้องจึงเป็นประเด็นที่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นเรื่องจำเลยที่ 4 เป็นผู้ควบคุมเรือเพ็นนินซูล่าหรือไม่ไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 อยู่บนเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ควบคุมเรือดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อสู่ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมเรือ แต่เป็นเพียงพนักงานประจำเรือที่ติดตามเรือเพื่อคอยตรวจนับสินค้าแล้วนำใบตรวจสินค้ามาให้จำเลยที่ 2 เพื่อเรียกเก็บค่าเช่าเรือ รวมทั้งทำหน้าที่คอยผูกเชือกโยงเข้ากับท่าเทียบเรือ เห็นว่า เรือเพ็นนินซูล่าเป็นเรือลำเลียงสินค้าไม่มีเครื่องยนต์เคลื่อนที่ไปโดยต้องใช้เรือยนต์ลากจูงไป แต่ก็ถือว่าเรือเพ็นนินซูล่าเคลื่อนที่ด้วยกำลังเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับเรือยนต์ที่ลากจูงแต่เรือดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างใหญ่จึงจำเป็นต้องมีคนควบคุมดูแล มิใช่ปล่อยให้เรือยนต์ลากจูงไปตามลำพัง และปรากฏตามที่นายรุ่งโรจน์ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างเรือของจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันขนส่งเนื่องจากเรือของจำเลยที่ 1 มีไม่เพียงพอ พยานเป็นผู้ติดต่อว่าจ้างด้วยตนเอง การว่าจ้างเรือเพ็นนินซูล่า ของจำเลยที่ 2 เป็นการว่าจ้างพร้อมกับผู้ควบคุมเรือ ผู้ควบคุมเรือที่พยานเบิกความถึงเรียกในทางการขนส่งทางน้ำว่าสรั่งเรือ ซึ่งสรั่งเรือมีหน้าที่ควบคุมเรือและดูแลสินค้ากับปรากฏตามหนังสือยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายว่าจำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นสรั่งเรือโป๊ะคือเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ควบคุมดูแลเรือเพ็นนินซูล่า มีหน้าที่ตรวจนับสินค้าและผูกโยงเชือกเรือ ไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือดังกล่าวเองได้ ต้องแล่นไปตามที่เรือยนต์จินดา 95 ลากจูงไป ซึ่งผู้ควบคุมเรือยนต์จินดา 95 คือนายนพรัตน์ จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่เป็นผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขณะเกิดเหตุคือนายนพรัตน์ซึ่งขับเรือยนต์ลากเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่าซึ่งถือว่าเดินด้วยเครื่องจักรกลเช่นกัน เข้าไปในระยะกระชั้นชิดใกล้กับสะพานของท่าเทียบเรือ และเลี้ยวเรือกลับเป็นเหตุให้เรือลำเลียงเพ็นนินซูล่ากระแทกเสาและคานของท่าเทียบเรือ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายนพรัตน์โดยตรง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที จำเลยที่ 4 ไม่อาจช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ เหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้นจำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 แม้จำเลยที่ 4 จะทำหนังสือยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้กระทำละเมิด หนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับผิด ดังนั้นจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 4 ย่อมไม่ต้องรับผิดด้วยรวมทั้งจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพียงใดโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ค่าเสียหายมี 2 ส่วน คือค่าเสียหายที่ต้องจัดการป้องกันความเสียหายมิให้เสียหายมากไปกว่าเดิมกับค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นค่าซ่อมแซมกลับคืนสู่สภาพเดิมและให้ใช้งานได้ดีดังเดิม ตามข้อเท็จจริง ความเสียหายของเสาทั้งห้าต้นเกิดจากแรงกระแทกของเรือเพ็นนินซูล่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มีส่วนผิดทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ความเสียหายมีทั้งส่วนที่อยู่เหนือน้ำ และอยู่ใต้น้ำ ตามรายงานการสำรวจความเสียหาย และรายงานการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายมานั้น ชอบแล้ว ความเสียหายที่เพิ่มนั้นเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 เองไม่ใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด คงต้องรับผิดเฉพาะความเสียหายส่วนแรกเป็นเงิน 610,646.86 บาท เห็นว่า การสำรวจความเสียหายครั้งแรก เป็นการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งเห็นชัดเจนในส่วนความเสียหายที่อยู่เหนือน้ำ ส่วนความเสียหายที่อยู่ใต้น้ำนั้นเห็นไม่ชัด เมื่อมีการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม จึงพบความเสียหายที่เกิดจากเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า กระแทกเสาและคานสะพานของท่าเทียบเรือของโจทก์ที่ 1 ตามรายงานการสำรวจซึ่งโจทก์ที่ 1 นำสืบยืนยันเรื่องการสำรวจความเสียหายดังกล่าวว่า ดำเนินการตามหลักวิศวกรรม โดยมีรายงานการสำรวจและการตรวจวิเคราะห์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ซึ่งเป็นคนกลางวิเคราะห์สาเหตุของความเสียหายสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 มีน้ำหนักให้รับฟัง อย่างไรก็ตาม สะพานท่าเทียบเรือของโจทก์ที่ 1 สร้างใช้งานมานานแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนที่อยู่ใต้น้ำมีเพรียงและหอยเกาะติดอยู่จำนวนมาก โดยสภาพวัตถุย่อมเสื่อมสภาพไปบ้างตามกาลเวลาและมูลค่าย่อมลดลงบ้าง ตามข้อเท็จจริงหลังเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 ยังคงใช้งานท่าเทียบเรือนี้อยู่ การที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่แล่นบนสะพานโดยที่ยังไม่มีการป้องกันที่ดีพอน่าจะมีผลกระทบต่อเสาและคานที่แตกร้าวอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพียงแต่ไม่อาจระบุให้เห็นได้ชัดเจนว่าเพียงใด จะอ้างว่าไม่มีผลกระทบเลยไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องซ่อมทำใหม่มากมาย นอกจากนี้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องมานั้น โจทก์ทั้งสามดำเนินการฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสเจรจาต่อรองเรื่องราคาด้วยความเสียหายที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องน่าจะสูงเกินไป แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายนั้นก็ต่ำเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้ใหม่ ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายร้อยละ 70 ของจำนวนที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้อง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 997,932.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ 29 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 5,806,306.80 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 645,145.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับช่วงสิทธิมาจากโจทก์ที่ 1 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 997,932.60 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 5,806,306.80 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 645,145.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์แต่ละคน ดอกเบี้ยของโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2548 ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ