คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2537 จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร 2 กระทงในปี 2549 ดังนั้นจำเลยจึงมีอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 74 แต่ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) ถึง (5) ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของจำเลยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 277, 279, 317 บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 694/2553 เข้ากับโทษในคดีนี้ ก่อนเริ่มสืบพยาน นางพัชรีย์ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ คดีส่วนแพ่งจำเลยไม่ขอให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 317 วรรคสาม, 277 วรรคสาม ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ รู้ผิดชอบแล้ว สมควรพิพากษาลงโทษโดยลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี จำคุก 8 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 6 ปี หากจำเลยอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ยังได้รับการฝึกและอบรมไม่ครบกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมขั้นสูงเหลือระยะเวลาฝึกและอบรมอยู่เท่าใด ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกแทนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 วรรคท้าย ยกคำขอให้บวกโทษจำคุก กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 3 (ผู้ร้อง) เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารตามฟ้องรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องและรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2537 เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารทั้ง 2 กระทงในปี 2549 ขณะที่จำเลยเป็นเด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 แต่ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (1) ถึง (5) ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน และลดมาตราส่วนโทษในความผิดฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรม ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดระยะเวลาสูงเกินไปและขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ และมีบุตรอายุเพียง 5 เดือนเศษ ที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อีกทั้งไม่เคยก่อเหตุร้ายใด ๆ มาก่อนดังที่อ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่การที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 7 ปี เศษ อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลย โดยให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 6 ปี แทนโทษจำคุกมานั้น นับว่าเหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินไปนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในคดีส่วนแพ่งโดยอาศัยเหตุว่า อุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งในเรื่องค่าสินไหมทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้กล่าวในฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร คงกล่าวอ้างเพียงว่าผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินไปและไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน ฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี รวม 2 กระทง จำเลยกระทำความผิดขณะที่ยังเป็นเด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี ไม่ต้องรับโทษ จึงให้ศาลชั้นต้นว่ากล่าวตักเตือนจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (1) สำหรับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้น หากจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แต่ยังมิได้รับการฝึกและอบรม หรือได้รับการฝึกและอบรมยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำก็ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share