แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาพิพากษาฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนค่าทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น และการแบ่งสินสมรสหลังการสมรสสิ้นสุดเพราะการตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่นับแต่เวลาที่การสมรสสิ้นสุดไปด้วยเหตุความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฟ้องโจทก์อีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากนี้ในระหว่างอยู่กินด้วยกันโจทก์จำเลยมีสินสมรส 3 รายการ คือ รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 8538 แพร่ ราคา 150,000 บาท รถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน แพร่ ฌ 7162 ราคา 5,000 บาท และสินค้าในร้านราคา 200,000 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 177,500 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทดแทน 40,000 บาท แก่โจทก์ ให้แบ่งสินสมรสตามฟ้องให้โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งไม่อาจกระทำได้หรือจะเสียหายมากนักให้ขายโดยการประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาด คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางคำ มารดาของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ระบุว่า การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 ระบุว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งไม่สามารถประกอบการงานและช่วยเหลือตนเองได้อย่างปกติ แต่จำเลยในฐานะภริยากลับไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จึงเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) และกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยฎีกาทำนองว่าบิดามารดาโจทก์ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับโจทก์เกินสมควร ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจำเลยในการดูแลรักษาและเลี้ยงดูโจทก์ เป็นการบีบบังคับไม่ให้จำเลยดูแลโจทก์โดยปริยายซึ่งไม่ใช่ความสมัครใจของจำเลยแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุหย่าตามกฎหมาย แต่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ได้ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาพิพากษาตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จำนวน 40,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1524 ระบุว่าการเรียกค่าทดแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น และการแบ่งสินสมรสหลังการสมรสสิ้นสุดเพราะการตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่นับแต่เวลาที่การสมรสสิ้นสุดไปด้วยเหตุความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 ด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฟ้องโจทก์ต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (3)
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ