แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินมือเปล่าตามพินัยกรรมตามส่วนของตน แต่ได้แสดงเจตนายกที่ดินมรดกส่วนของตนตีใช้หนี้ ส.แล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมหมดสิทธิในที่ดินมรดก ส.ได้สิทธิครอบครอง ถือว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับมรดกตามพินัยกรรมแล้ว และกรณีไม่ใช่เรื่องสละมรดก จึงไม่ต้องทำตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจมาฟ้องเรียกเอาที่ดินมรดกอีก
การแบ่งที่ดินมรดกให้แก่ทายาทได้แบ่งในคราวเดียวกัน โจทก์ที่ 2 ได้รับเอาที่ดินมรดกมา 3 งานเศษ ยังขาดอยู่ 80 ตารางวาเศษ ทั้งๆ ที่รู้ข้อความในพินัยกรรมดี แต่ก็ไม่ทักท้วง และได้ขายส่วนของตนที่ได้รับมาทั้งหมดให้แก่ ส.ในวันเดียวกันนั้น ทายาททุกคนพอใจในการแบ่งมรดกและได้ถือเอาที่ดินมรดกส่วนแบ่งที่ได้รับมาเป็นของตนเแล้ว จึงถือว่าผู้จัดการมรดกได้จัดแบ่งที่ดินมรดกเสร็จโดยสมบูรณ์ โจทก์ที่ 2 พอใจในการแบ่งมรดกแล้ว จึงไม่มีอำนาจมาฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก มิใช่เรื่องการสละมรดกเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีส่วนได้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมของนายเฟื่องบิดา นางสท้านผู้จัดการมรดกไห้รับโอนที่ดินมาและแบ่งให้แก่ทายาทอื่นแล้วเว้นแต่โจทก์กับจำเลย นางสท้านถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นบุตรนางสท้านไม่ยอมแบ่งส่วนของโจทก์ให้ จึงขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิรับมรดกตามส่วนของโจทก์เนื้อที่ ๓ งาน ๙๗ ตารางวา ๒ ตารางศอก
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นหนี้เงินนางสท้าและขณะนายเฟื่องยังมีชีวิติอยู่ โจทก์ให้นายเฟื่องเป็นตัวแทนกู้เงิน พอนายเฟื่องถึงแก่กรรมนางสท้านใช้หนี้แทน ๓๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงสละสิทธิไม่ขอรับมรดกหรือทรัพย์ใดๆ ทั้งสิ้น โดยทำใบมอบอำนาจให้ไว้เป็นหลักฐาน นางสท้านครอบครองที่ดินเพื่อตน คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมของนายเฟื่องบิดา นางสท้านในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับโอนที่ดินมาและแบ่งส่วนมรดกให้แก่โจทก์แล้วแต่ยังขาดอยู่ ๘๕ ตารางวา ๒ ตารางศอก นางสท้านถึงแก่กรรม จำเลยในฐานะทายาทของนางสท้านจะถือสิทธิเอาแต่ผู้เดียว ขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้รับมรดกส่วนที่ยังขาดอยู่
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินตามพินัยกรรมแล้ว แต่ขายให้นางสท้าน โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนที่ยังเหลืออยู่อันเป็นส่วนของนางสท้านคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ ๑ เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ ๒ และวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ ๑ ยกที่ดินส่วนของตนให้นางสท้านเป็นการหักกลบลบหนี้ที่โจทก์เป็นหนี้นางสท้านชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ที่ ๒ ได้รับส่วนแบ่งครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายเฟื่องทำพินัยกรรมยกที่ดินเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๙๗ ตารางวา ให้กับบุตร ๖ คน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองคนละส่วนเท่ากัน ซึ่งจะได้ที่ดินคนละประมาณ ๓ งาน ๙๙ ตารางวา ๘ ตารางศอก (ตามฟ้องอ้างว่าจะได้คนละ ๓ งาน ๙๗ ตารางวา ๒ ตารางศอก) หลังจากนายเฟื่องถึงแก่กรรมแล้วนางสท้านมารดาจำเลยผู้จัดการมรดกได้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมและวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นหนี้นางสท้านอย่างน้อยที่สุด ๓๔,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ ยกที่ดินมรดกตีใช้หนี้ให้แก่นางสท้านแล้ว โดยที่ที่ดินมรดกเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียง น.ส.๓ เท่านั้น เมื่อโจทก์แสดงเจตนายกที่ดินมรดกส่วนของตนตีใช้หนี้ให้แก่นางสท้านแล้วโจทก์ที่ ๑ ย่อมหมดสิทธิในที่ดินมรดก และนางสท้านย่อมได้สิทธิครอบครองและได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกตามพินัยกรรมแล้ว กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องสละมรดกจึงไม่ต้องทำตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจมาฟ้องเรียกร้องเอาที่ดินมรดกอีก
ส่วนที่โจทก์ที่ ๒ นั้น โจทก์ที่ ๒ เบิกความว่าการคิดคำนวณส่วนแบ่งมรดกเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้คิดให้ ทายาททุกคนพอใจส่วนแบ่งดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ที่ ๒ ด้วย การแบ่งที่ดินได้กระทำในคราวเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดแบ่งที่ดินมรดกตามพินัยกรรมและตามจำนวนที่ดินซึ่งมีอยู่ในขณะแบ่ง โจทก์ที่ ๒ รู้ข้อความในพินัยกรรมดีแต่ก็มิได้ทักท้วง ทั้งเมื่อได้รับส่วนแบ่งมาแล้ว ก็ได้ขายส่วนที่ได้รับมาทั้งหมดให้นางสท้านไปในวันเดียวกันนั้น โจทก์ที่ ๒ ได้รับส่วนแบ่งมรดกไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ ตามเอกสารหมาย จ.๔ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อทายาททุกคนและโจทก์ที่ ๒ พอใจในการแบ่งมรดก และทายาทได้จัดแบ่งที่ดินมรดกของนายเฟื่องเจ้ามรดกเสร็จไปโดยสมบูรณ์ และโจทก์ที่ ๒ ก็พอใจในการแบ่ง มิใช่เรื่องสละมรดกเช่นเดียวกัน โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจมาฟ้องเรียกเอาส่วนแบ่ง
พิพากษายืน