แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เบิกความยืนยัน โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 290,000 บาท โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยอ้างว่าเมื่อปี 2535 จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 50,000 บาท เท่านั้น และในปี 2536-2538 จำเลยได้ทำการชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกปีเป็นจำนวน 3 ครั้ง ต่อมาปี 2539 และปี 2540 จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 แต่ความจริงจำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท เท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 เป็นจำนวนเงินมากกว่า 30,000 บาท เพราะจำเลยมิได้ค้างชำระดอกเบี้ยเฉพาะในปี 2539 และ 2540 แต่ในปี 2536-2538 จำเลยก็ยังผ่อนชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ครบ การที่จำเลยอ้างว่าในปี 2543 ได้นำเงิน 80,000 บาท ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยอมคืนสัญญากู้ยืมเงินให้ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุน ทั้งจำนวนเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงเงินต้นเท่านั้นไม่รวมไปถึงดอกเบี้ยด้วย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะคืนสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลย จึงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 290,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นแก่โจทก์ 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินกู้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ออก ศาลต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 398,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 290,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากู้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540) เป็นต้นไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กรกฎาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 290,000 บาท ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 โดยนางสาคร สิงห์สุพรรณ บุตรสาวจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความลงในสัญญากู้และลงลายมือชื่อในช่องผู้เขียนและพยาน จำเลยลงลายมือในช่องผู้กู้ โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องเจ้าของเงินหรือผู้ให้กู้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 290,000 บาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยเคยกู้ยืมไปจากโจทก์รวมกับจำนวนเงินที่จำเลยกู้ยืมใหม่ และโจทก์ยังมีสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้โดยมีนางสาครบุตรสาวจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความและลงชื่อเป็นพยานมานำสืบสนับสนุน ในเบื้องต้นจึงฟังได้ว่าจำเลยได้กู้ยืมไปจากโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 50,000 บาท ตั้งแต่ปี 2535 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ 3 ครั้งในปี 2536 เป็นเงิน 10,000 บาท ปี 2537 และปี 2538 เป็นเงินปีละ 5,000 บาท ต่อมาในปี 2539 และปี 2540 จำเลยไม่ได้ผ่อนชำระดอกเบี้ย โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่ความจริงจำเลยค้างชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท นั้น ยังขัดต่อเหตุผล เพราะหากโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 ที่จำเลยทำสัญญากู้กับโจทก์จะเป็นเงินมากกว่า 30,000 บาท เพราะจำเลยมิได้ค้างชำระดอกเบี้ยในปี 2539 และ 2540 เท่านั้น แต่ในปี 2536 ถึงปี 2538 จำเลยยังผ่อนชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ครบ และที่จำเลยอ้างว่าในปี 2543 จำเลยนำเงิน 80,000 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้วและจำเลยทวงสัญญาเงินกู้เอกสารหมาย จ.1 คืน แต่โจทก์อ้างว่ายังหาไม่พบ เมื่อพบจะคืนให้นั้นก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุน ทั้งจำนวนเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงต้นเงินที่จำเลยอ้างว่าค้างชำระเท่านั้น โดยจำเลยมิได้ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะคืนสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 290,000 บาท อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงิน 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากู้ เป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 398,750 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง โจทก์ฎีกา ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงินจำนวน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ออกที่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์จำนวน 398,750 บาท จึงไม่ถูกต้อง ต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 1,250 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ