คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีอ้างว่า มีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3) อันก่อสิทธิฟ้องคดีได้โดยสมบูรณ์หาใช่กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่มีเหตุอันจะต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ประกอบมาตรา 1055 (4) ไม่ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องโดยหาต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ก่อน
การที่จำเลยและโจทก์ที่ 3 หย่าขาดกันตามคำพิพากษาตามยอมนั้น หาอาจหมายความว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 ได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินส่วนแบ่งผลกำไรแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยยุติการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับกิจการโรงสีข้าว และขอเลิกหุ้นส่วนสามัญหรือกิจการโรงสีข้าวเพื่อชำระบัญชี กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามคนละไม่น้อยกว่า 7,500 บาท ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะยุติกิจการโรงสีข้าว และให้ศาลสั่งกำจัดจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยเข้าหุ้นกันเพื่อประกอบกิจการโรงสีข้าวเลิกกัน โดยให้จำเลยยุติการประกอบกิจการโรงสีข้าวของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย ให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยเข้าหุ้นกันเพื่อประกอบกิจการโรงสีข้าว และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสามเพียง 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเข้าหุ้นเพื่อประกอบกิจการโรงสีพิพาทร่วมกัน ต่อมาโจทก์ทั้งสามกับจำเลยมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งร้ายแรงหลายเรื่อง กล่าวคือ จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 3 จนโจทก์ที่ 3 ฟ้องขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย ซึ่งศาลได้พิพากษาให้หย่ากันแล้ว จำเลยกล่าวหาว่าฝ่ายโจทก์เปิดโรงสีแข่งกับโรงสีของหุ้นส่วนและกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ยักยอกข้าวเปลือกและข้าวสารของหุ้นส่วน พฤติการณ์ดังกล่าวเพียงพอเชื่อว่า มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3) ซึ่งให้อำนาจศาลสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสามต้องบอกเลิกห้างตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1056 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีอ้างว่า มีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3) อันก่อสิทธิฟ้องคดีได้โดยสมบูรณ์ หาใช่กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่มีเหตุ อันจะต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ประกอบมาตรา 1055 (4) ไม่ โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องโดยหาต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ก่อน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ที่จำเลยให้การว่า “จำเลยกับโจทก์ที่ 3 หย่ากันตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 181/2550 ของศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550″ สั้น ๆ แล้วเปลี่ยนเรื่องไปให้การในเรื่องอื่น ๆ นั้น เพียงพอให้ถือว่าจำเลยได้ให้การว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำให้การว่าจำเลยและโจทก์ที่ 3 หย่ากันตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 181/2550 ของศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 นั้นหาอาจหมายความว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันได้ไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ถึงเรื่องโจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงกันให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างฯด้วยข้อตกลงแห่งสินสมรสในสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.5 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสาม 1,500 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share