แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงบ่งบอกวันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าปิดประกาศแจ้งคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด ดังนั้น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40 (1), 42, 65, 66 ทวิ, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยกรณีฝ่าฝืนคำสั่งวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตามกฎหมายจนถึงวันฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40 (1), 42, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 เดือน ปรับ20,000 บาท และปรับวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2546 คิดถึงวันฟังคำพิพากษา (วันที่ 31 พฤษภาคม 2549) รวม 1,007 วัน เป็นเงิน 201,400 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำคุก 2 เดือน ปรับ 30,000 บาท และปรับวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 คิดถึงวันฟังคำพิพากษา (วันที่ 31 พฤษภาคม 2546) (ที่ถูก 2549) รวม 942 วัน เป็นเงิน 376,800 บาท และปรับอีกวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคาร จำคุก 2 เดือน ปรับ 30,000 บาท และปรับวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2547 คิดถึงวันฟังคำพิพากษา (วันที่ 31 พฤษภาคม 2546) (ที่ถูก 2549) รวม 863 วัน เป็นเงิน 345,200 บาท และปรับอีกวันละ 400 วัน นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น รวมจำคุก 5 เดือน และปรับ 1,003,400 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2546 คิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548) รวม 532 วัน เป็นเงิน 106,400 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้ระงับการก่อสร้าง ปรับวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2547 รวม 91 วัน เป็นเงิน 36,400 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคาร ปรับวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2547 คิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548) รวม 388 วัน เป็นเงิน 155,200 บาท รวมกับโทษจำคุกและปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 5 เดือน และปรับ 378,000 บาท และปรับฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกวันละ 200 บาท กับปรับฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารอีกวันละ 400 บาท ทั้งนี้นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า การแจ้งเรื่องก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาต องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลไม่ได้กำหนดแบบแจ้งไว้ ดังนั้นเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารไปตามคำอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง เห็นว่า ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เดิมจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าการก่อสร้างอาคาร จำเลยจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับแจ้งให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ จำเลยหาอาจยกเอาเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำให้จำเลยก่อสร้างอาคารไปก่อนมาเป็นข้อแก้ตัวได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา ซึ่งข้อวินิจฉัยดังกล่าวนั้นละเอียดรอบคอบชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดนั้น จำเลยฎีกาเกี่ยวกับค่าปรับรายวันว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 คิดคำนวณไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เห็นว่า การฝ่าฝืนก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 21 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยต่อจากนั้นที่ไม่ยอมรื้อถอนย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42, 66 ทวิ แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง อีก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2546 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นวันที่จำเลยทราบคำสั่ง จึงครบกำหนดรื้อถอนในวันที่ 18 มกราคม 2547 จำเลยจึงต้องชำระค่าปรับรายวันตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง ถึงวันก่อนครบกำหนดรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นกล่าวคือตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2547 เป็นเวลา 143 วัน วันละ 200 บาท เป็นเงิน 28,600 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงโทษปรับรายวัน นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2546 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548) และนับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนอาคาร เห็นว่า มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงบ่งบอกวันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ปิดประกาศแจ้งคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด ดังนั้น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่เกี่ยวกับวันสิ้นสุดของการลงโทษปรับรายวันในความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร เนื่องจากอาคารตามฟ้องได้ถูกทำลายโดยภัยพิบัติทางธรรมชาติ (คลื่นยักษ์สึนามิ) แล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เพราะไม่เป็นเหตุและมีผลให้คดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนอาคาร ลงโทษความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับรายวันเป็นเงิน 28,600 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกและปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว เป็นจำคุก 1 เดือน และปรับ 48,600 บาท โทษจำคุกให้การรอลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8