คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13349/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองในที่ดินพิพาทที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกโดยมีคำขอบังคับท้ายฟ้องเน้นให้เพิกถอนและให้โอนคืนตามลำดับก็เพื่อเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทของ ป. ผู้ตาย รวมทั้งประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามด้วย คดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทจำนวน 233,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสุพรรณบุรี แม้โจทก์จะมีคำขอให้กำจัดจำเลยที่ 1 ไม่ให้รับมรดกของ ป. ซึ่งเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์มาด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่องลำดับที่รองลงไป เมื่อศาลแขวงสุพรรณบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขออื่นที่รองลงไปนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31329 ตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับมีคำสั่งกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 รับมรดกของนายประชา และขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 31329 ตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 31329 ดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสุพรรณบุรี จึงให้โอนคดีไปพิจารณาที่ศาลแขวงสุพรรณบุรี แต่ศาลแขวงสุพรรณบุรีเห็นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงไม่รับโอนคดีและคืนสำนวนไปยังศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 31329 ตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 และเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ลงวันที่ 13 กันยายน 2554 กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้รับมรดกในที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม หากไม่ไปดำเนินการ ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ มีคำขอท้ายฟ้องเน้นตามลำดับก็เพื่อเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทของนายประชาผู้ตาย รวมทั้งประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามด้วย คดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทจำนวน 233,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสุพรรณบุรี แม้โจทก์จะมีคำขอให้มีคำสั่งกำจัดจำเลยที่ 1 ไม่ให้รับมรดกของนายประชาซึ่งเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์มาด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่องลำดับที่รองลงไป เมื่อศาลแขวงสุพรรณบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขออื่นที่รองลงไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษามาจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share