คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกรวมเป็นเงิน 32,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของนายอุดมในบริษัทไทยโคลแดร์ อุตสาหกรรม จำกัด 56 หุ้น บริษัทเครื่องไฟฟ้ายู่ฮวด จำกัด 113 หุ้น บริษัทเครื่องไฟฟ้าเนชั่นแนล จำกัด 68 หุ้น และบริษัทเอ.พีโฮลดิ้งส์ จำกัด 28,571 หุ้น ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ หากจำเลยไม่แบ่งหุ้นดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย เพื่อแบ่งทรัพย์มรดกโดยโอนกรรมสิทธิ์และหรือเปลี่ยนชื่อในหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ทันที
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 32,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2549 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของนายอุดม ที่มีอยู่ในบริษัทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ได้แก่หุ้นในบริษัทไทยโคลแดร์อุตสาหกรรม จำกัด หมายเลขหุ้นที่ 251 ถึง 300 และ 409 ถึง 414 หุ้น ในบริษัทเครื่องไฟฟ้ายู่ฮวด จำกัด หมายเลขหุ้นที่ 417 ถึง 529 หุ้นในบริษัทเครื่องไฟฟ้าเนชั่นแนล จำกัด หมายเลขหุ้นที่ 431 ถึง 498 และหุ้นในบริษัทเอ.พี.โฮลดิ้งส์ จำกัด หมายเลขหุ้นที่ 95426 ถึง 114510 และ 197658 ถึง 207143 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสี่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดมต้องแบ่งเงินและหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เดิมบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นายพีระ นายอุดม และจำเลย ประกอบธุรกิจแบบกงสี ตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลยู่ฮวด ค้าขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จำเลยเป็นพี่ชายคนโตช่วยบิดามารดาดำเนินธุรกิจ ส่วนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นายพีระ และนายอุดมยังเรียนหนังสือ ต่อมาบิดาจำเลยกับจำเลยก่อตั้งบริษัทขึ้นอีก 4 แห่ง โดยบิดาจำเลยเป็นผู้บริหาร จำเลยเป็นผู้ช่วย แสดงว่าธุรกิจของบริษัททั้งสี่แห่งที่ตั้งขึ้นใหม่ยังคงดำเนินกิจการแบบกงสี คือเป็นธุรกิจของครอบครัว สมาชิกในครอบครัวช่วยกันดำเนินกิจการ ต่อมาเมื่อบิดาและมารดาถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการจัดการมรดกหรือแบ่งทรัพย์มรดกกันอย่างไร กลับปรากฏว่ายังปรากฏชื่อบุตรทุกคน คือโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นายพีระ นายอุดม และจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นทุกบริษัท แสดงว่าบริษัททั้งสี่แห่งยังเป็นกิจการของครอบครัว สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีส่วนเป็นเจ้าของและร่วมดำเนินกิจการ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ลงทุนจ่ายค่าหุ้นแทนน้อง ๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดและน่าเชื่อว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นายพีระ และนายอุดมเติบโตขึ้นได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวด้วย กระทั่งเห็นว่าจำเลยบริหารกิจการไม่โปร่งใส่ จึงร่วมกันถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัท ทำให้เกิดข้อพิพาทกันต่อมาอีกหลายคดี ดังนั้น เมื่อมีการขายหุ้นของกลุ่มครอบครัวโจทก์จำเลยในบริษัทเอ.พี. เนชั่นแนล อีเลคทริค จำกัด แก่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่น แม้จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปเจรจาขายหุ้นก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 นายพีระ และนายอุดมด้วย เงินที่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่นชำระค่าหุ้นย่อมตกเป็นของสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวตามสัดส่วนจำนวนหุ้น โดยนายอุดมถือหุ้น 10 หุ้น เท่ากับโจทก์ที่ 1 ที่ 3 นายพีระ จำเลยและนายประเสริฐซึ่งส่วนแบ่งที่ผู้ถือหุ้นกลุ่มครอบครัวได้รับต้องคำนวณจากจำนวนเงินราคาที่ผู้ร่วมลงทุนชาวญี่ปุ่นชำระ ไม่ใช่คำนวณจากมูลค่าหุ้นดังจำเลยอ้าง ต่อมาเมื่อนายอุดมถึงแก่ความตาย ส่วนแบ่งของนายอุดมย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาท จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดมมีหน้าที่ต้องแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท นายอุดมไม่มีบุตรภริยา และบิดามารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ทายาทของนายอุดมได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนายอุดมคือเงินและหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า นายอุดมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดมครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และนายพีระว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และมาตรา 1384 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสี่

Share