คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5468/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคำฟ้องมีลายมือชื่อทนายความของโจทก์ที่ 2 ลงไว้ในช่องลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์เพียงผู้เดียว จึงเป็นกรณีคำฟ้องมิได้ลงลายมือชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) ในส่วนของโจทก์ที่ 1 แต่ ส. ทนายความของโจทก์ที่ 1 ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตลอดมา จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา18 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ควรพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเสียให้บริบูรณ์แล้วพิพากษาใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ด้วยเหตุที่โจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องโดยมิได้ให้โอกาสโจทก์ที่ 1 ดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแล้วพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นมารดาและบิดาของนายสมชาย แซ่ลี้ ผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0198 กรุงเทพมหานคร และได้นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2529 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูง จำเลยที่ 1ได้เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ล้มลงและผู้ตายยังนอนอยู่กลางถนนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน รถจึงทับศีรษะผู้ตายถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย นายสมชาย แซ่ลี้ ผู้ตายไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0198 จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้าง และเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของผู้ตายเพียงฝ่ายเดียว โจทก์เรียกค่าปลงศพมาเกินกว่าฐานานุรูปและเกินต่อความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองไม่ขาดไร้อุปการะเพราะผู้ตายไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 และไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ ร่วมกับผู้ใดตามฟ้อง เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของผู้ตายแต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ทั้งสองเสียหายไม่เกิน 3,500 บาทโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะ เพราะผู้ตายมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีหน้าที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ผู้ตายไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสอง เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ตายฝ่ายเดียวจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าทำศพหากใช้จ่ายจริงไม่เกิน7,000 บาท โจทก์ทั้งสองไม่ขาดไร้อุปการะ จำเลยที่ 4 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0198 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 3 และหากจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่นแล้วจะต้องรับผิดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.1 ไม่เกิน 50,000บาท ฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องคดีสำหรับโจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1เสียด้วย
โจทก์ที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 แต่งตั้งนายสมศักดิ์พรทิพย์โสดา เป็นทนายความตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 4 กันยายน2530 ในคำฟ้องมีลายมือชื่อนายสุขสันต์ สุขสวัสดิ์ ทนายความของโจทก์ที่ 2 ลงไว้ในช่องลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์เพียงผู้เดียว จึงเป็นกรณีคำฟ้องมิได้ลงลายมือชื่อโจทก์ที่ 1เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 67(5) ในส่วนของโจทก์ที่ 1 คงบริบูรณ์เฉพาะคำฟ้องส่วนของโจทก์ที่ 2 แต่นายสมศักดิ์ พรทิพย์โสดา ทนายความโจทก์ที่ 1ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตลอดมาจนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ โดยศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ควรพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเสียให้บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้วพิพากษาใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1ด้วยเหตุที่โจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องโดยมิได้ให้โอกาสโจทก์ที่ 1 ดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์ในคำฟ้องเสียให้ถูกต้องแล้วพิพากษาใหม่

Share