คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11484/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาร่วมลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์และ ศ. เป็นเรื่อง ศ. ตกลงให้โจทก์มีลิขสิทธิ์ร่วมกับ ศ. ในบทเพลงที่ ศ. มีลิขสิทธิ์อยู่ มิใช่ขายขาดให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีลิขสิทธิ์ในบทเพลงดังกล่าว ทั้งโจทก์และ ศ. จึงต่างก็เป็นเจ้าของและเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทเพลงอันมีลิขสิทธิ์ร่วมกัน การตกลงให้โจทก์แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอกเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บทเพลงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ ศ. จะไปว่ากล่าวกันเองตามสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจนำมาตัดสิทธิ ศ. ไม่ให้ฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงของตนอันเป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมาย ศ. จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้หากเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์ของตน และเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูก ศ. ฟ้องในเหตุอันเดียวกันกับเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้จนศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไป แม้คดีที่ ศ. ฟ้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม เพราะการมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) มิได้หมายความเฉพาะการมีคำพิพากษาในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แต่หมายถึงการมีคำพิพากษาในคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วย คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 17, 27, 28, 31, 69, 70, 74 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งให้จ่ายค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งให้โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายงานดนตรีกรรมและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเนื้อร้องและทำนองเพลง “โรงแรมใจ” และ “บาร์หัวใจ” ซึ่งนายสนิทเป็นผู้ประพันธ์ โดยโจทก์ได้รับโอนลิขสิทธิ์มาจากการร่วมธุรกิจกับนายศักดิ์ชัย โดยนายศักดิ์ชัยได้รับโอนลิขสิทธิ์มาจากทายาทของนายสนิท ซึ่งเป็นการโอนเด็ดขาดตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตเทปบันทึกเสียงและวิดีโอ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 โจทก์พบวีซีดีเพลงคาราโอเกะ ซึ่งมีเพลง “โรงแรมใจ” และ “บาร์หัวใจ” บันทึกอยู่ด้วย วางจำหน่ายที่ร้านเอสบีวาย ด้านหลังกล่องบรรจุวีซีดีดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ให้ผลิตออกจำหน่าย จึงซื้อวีซีดีดังกล่าวแล้วตรวจสอบข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 3 นำเพลงทั้งสองเพลงไปจัดทำสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุทุกประเภทเพื่อการค้าได้ และจำเลยที่ 3 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ผลิตเป็นวีซีดีออกขาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ว่าร่วมกันละเมิดต่อลิขสิทธิ์บทเพลงทั้งสองเพลง หลังไต่สวนมูลฟ้องข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 นายศักดิ์ชัยเคยฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลง “โรงแรมใจ” และ “บาร์หัวใจ” ซึ่งเป็นเหตุเดียวกันนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2352/2551 หมายเลขแดงที่ 5743/2551 ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2551 นายศักดิ์ชัยยื่นอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา สำหรับคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ระงับไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เนื่องจากมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 4 จึงเป็นอันยุติคงมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะกรณีของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้นว่าสิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ระงับแล้วหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์สรุปใจความว่า สัญญาร่วมลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์และนายศักดิ์ชัยให้สิทธิโจทก์แต่ผู้เดียวในการจัดหาผลประโยชน์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์โดยเฉพาะในการดำเนินคดีมีข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญปรากฏใน ข้อ 4 ของสัญญาว่า โจทก์แต่ผู้เดียวมีสิทธิที่จะจัดการด้วยวิธีที่เห็นสมควร นายศักดิ์ชัยไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ หากไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ การฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ของนายศักดิ์ชัยในคดีก่อนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ไม่ตัดสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีนี้และคดีที่นายศักดิ์ชัยฟ้องก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจึงถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว เห็นว่า สัญญาร่วมลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์และนายศักดิ์ชัยเป็นเรื่องที่นายศักดิ์ชัยตกลงให้โจทก์มีลิขสิทธิ์ร่วมกับนายศักดิ์ชัยในบทเพลงที่นายศักดิ์ชัยมีลิขสิทธิ์อยู่ ซึ่งมีเพลง “โรงแรมใจ” และ “บาร์หัวใจ” รวมอยู่ด้วย มิใช่ขายขาดให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีลิขสิทธิ์ในบทเพลงดังกล่าว ทั้งโจทก์และนายศักดิ์ชัยจึงต่างก็เป็นเจ้าของ และเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทเพลงอันมีลิขสิทธิ์ร่วมกัน การตกลงให้โจทก์แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอกเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บทเพลงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายศักดิ์ชัยจะไปว่ากล่าวกันเองตามสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจนำมาตัดสิทธินายศักดิ์ชัยไม่ให้ฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงของตนอันเป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมาย นายศักดิ์ชัยจึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้หากเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์ของตนและเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกนายศักดิ์ชัยฟ้องในเหตุอันเดียวกันกับเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้จนศาลมีคำพิพากษาแล้วก็ต้องถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แม้คดีที่นายศักดิ์ชัยฟ้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม เพราะการมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) มิได้หมายความเฉพาะการมีคำพิพากษาในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แต่หมายถึงการมีคำพิพากษาในคดีของศาลชั้นต้น หรือในคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share