แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ากฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 55
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อเหตุก่อน คือ เมาสุราเข้าไปในวงหมากรุกที่จำเลยที่ 1 กำลังเล่นอยู่ แล้วใช้เท้าปัดหรือกวาดตัวหมากรุกในกระดานต่อหน้าประชาชนที่ล้อมดูอยู่เป็นอันมาก การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามข่มเหงน้ำใจจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เพราะมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกันอยู่
การกระทำโดยบันดาลโทสะที่จะได้รับความปราณีลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 จะต้องปรากฏว่า ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น เกิดในบริเวณวัดซึ่งกำลังมีงานเผาศพต่อหน้าประชาชนจำนวนไม่น้อย จำเลยที่ 1 ย่อมจะรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองเป็นอย่างมาก ย่อมถือได้ว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๙ จำเลยต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัสขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗, ๒๙๕ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๖, ๒๕๔
จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธต่อสู้ว่าป้องกันตัว
จำเลยที่ ๒ ปฏิเสธข้อหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งเป็นคุณกว่ากฎหมายลักษณะอาญา ให้ปรับ ๓๐ บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน คือ เมา สุราเข้าไปในวงหมากรุกที่จำเลยที่ ๑ กำลังเล่นอยู่ แล้วใช้เท้าปัดหรือกวาดตัวหมากรุกในกระดานต่อหน้าประชาชนคนที่ล้อมดูอยู่เป็นอันมาก ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ เช่นนี้ เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามข่มเหงน้ำใจจำเลยที่ ๑ ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เพราะมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกันอยู่ แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายเพียงใดก็ได้นั้นจะต้องปรากฏว่า ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ กระทำข่มเหงในบริเวณวัด ซึ่งกำลังมีงานเผาศพต่อหน้าประชาชนจำนวนไม่น้อย จำเลยที่ ๑ ย่อมจะรู้สึกอับอายขายหน้า และแค้นเคืองเป็นอย่างมาก จึงถือได้ว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจอย่างร้ายแรง สมควรลงโทษจำเลยให้น้อยลงได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ากฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๕๕
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ให้น้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๒ ปี นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์