คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งทั้งหมด สอดคล้องกับมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง กำหนดให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทั้งในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง โดยให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. และกฎหมายอื่น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 10 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด และมาตรา 99 วรรคสอง บัญญัติให้ค่าเสียหายที่ได้รับชดใช้จากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และกำหนดหน่วยงานที่จะได้รับจัดสรรเงินในกรณีที่ได้รับชดใช้จากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 131,088.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 125,074.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 125,074.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 6,013.80 บาท (ฟ้องวันที่ 31 สิงหาคม 2554) ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาข้อแรกว่า องค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะพร้าวเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ โจทก์เป็นเพียงผู้ควบคุมหรือจัดให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่นั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 235 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น…(17) ดำเนินการอื่นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอื่น หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง” จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งทั้งหมด สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติหรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้มีอำนาจแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการสืบสวน หรือแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวน และให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทั้งในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง โดยให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นและให้ได้รับยกเว้นค่าฤชา ธรรมเนียมทั้งปวง” ยิ่งแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นมอบหมายให้โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีต่าง ๆ อันเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมทั้งในทางแพ่ง ทางอาญาและทางปกครอง การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 10 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด และมาตรา 99 วรรคสอง บัญญัติให้ค่าเสียหายที่ได้รับชดใช้จากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วและกำหนดหน่วยงานที่จะได้รับจัดสรรเงินในกรณีที่ได้รับจากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นคนละเรื่องกับอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อว่า คำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 10/2551 ลงวันที่ 9 มกราคม 2551 และคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 50/2552 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2552 เรื่องการมอบอำนาจให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น มีเพียงลายมือชื่อของนายอภิชาต โดยไม่มีลายมือชื่อของผู้รับมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องดำเนินคดีในศาล คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบหมายให้กรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง เลขาธิการ พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พนักงานอัยการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแทนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติมอบอำนาจให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีแทนแล้ว นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดยลงลายมือชื่อในคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง มอบอำนาจให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยเฉพาะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share