คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นทายาทและเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของว.ท. และส. ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์และจำเลยที่1ยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยก่อนจำเลยที่1จะขายที่ดินพิพาทจำเลยที่1ได้เรียกประชุมทายาทโดยมีจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้ง3คนและมีทายาทอื่นรวมทั้งห. ผู้แทนของโจทก์ร่วมประชุมด้วยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการนำที่ดินพิพาทจัดการหาผลประโยชน์เข้ามากองมรดกต่อไปหลังจากมีการขายที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่1ก็ได้แบ่งปันเงินที่ได้ให้แก่ทายาทตามส่วนถือได้ว่าจำเลยที่1ขายที่ดินพิพาทไปในขอบเขตอำนาจของจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ใช่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกซึ่งจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1574มาใช้บังคับไม่ได้นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่1และที่2ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมแต่คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความในคดีเมื่อจำเลยที่1และที่2ยอมโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดกแม้จะยังไม่ได้โอนใส่ชื่อจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดนั้นก็ตามก็ถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1719โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทจำเลยที่1มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุรชัย จูฑาวัฒนานนท์ ผู้ตาย ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17160 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่6971 อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้แบ่งปันให้แก่ทายาทอื่นตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตาย จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 2 ยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นทั้งสองแปลงกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญาและศาลได้พิพากษาตามยอมแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ในฐานะผู้ปกครองเด็กหญิงวิไลลักษณ์ จูฑาวัฒนานนท์ กับพวกและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับจำเลยที่ 2 จงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับของศาลไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่กลับสมคบกับจำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมเป็นตัวแทนของทายาททุกคน รวมทั้งโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ปกครองของเด็กหญิงวิไลลักษณ์กับพวกซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำนิติกรรมขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ทายาทของผู้ตายได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2533 และมีมติให้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อโดยตรง มิต้องให้จำเลยที่ 2 จัดการโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ก่อนในการประชุมครั้งดังกล่าวโจทก์ทราบแล้วแต่ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 3 โดยตรงการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้เป็นทายาทของผู้ตาย จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นมารดาของผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 17160 แขวงบางโคล่ (บางขวาง) เขตยานนาวา (บางรัก)กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2โดยมิได้แบ่งปันให้ทายาทคนอื่น ผู้ตายมีทายาททั้งหมด 9 คน โดยเป็นผู้เยาว์ 3 คน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ในระหว่างพิจารณาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2533 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อให้จำเลยที่ 1 จัดการมรดกให้เป็นไปตามกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9420/2533 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2533จำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมทายาทครั้งแรก เพื่อปรึกษาในการจัดการมรดก ตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533จำเลยที่ 2 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของทายาทซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ ไม่ใช่ในฐานะผู้จัดการมรดก นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 1 จะเป็นทายาทและเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวิไลลักษณ์ นางสาวทัศนีย์ และนางสาวสุมาลีทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยก่อนจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมทายาทเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดการมรดกโดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้ง 3 คน และมีทายาทอื่นรวมทั้งนายหาญ ผู้แทนของโจทก์ร่วมประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้ด้วย ตามระเบียบวาระที่ 1เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบวาระที่สอง บัญชีทรัพย์มรดกและวาระที่ 3 การจัดการมรดกโดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการนำที่ดินพิพาทจัดการหาผลประโยชน์เข้ามากองมรดกต่อไปตามเอกสารหมาย จ.4 หลังจากมีการขายที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1ก็ได้แบ่งปันเงินที่ได้ให้แก่ทายาทตามส่วนตามเอกสารหมาย ล.12โดยส่วนของโจทก์จำเลยที่ 1 ฝากธนาคารไว้ ตามเอกสารหมาย ล.11ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทไปในขอบเขตอำนาจของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ไม่ใช่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่อง ผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกซึ่งจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574มาใช้บังคับไม่ได้ นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทไม่เป็นโมฆะ
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3นั้น เห็นว่า คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความในคดี เมื่อจำเลยที่ 1และที่ 2 ยอมโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดก แม้จะยังไม่ได้โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดนั้นก็ตามก็ถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3
พิพากษายืน

Share