แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การให้การหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เสียหายนั้น อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเหมือนกัน ถ้าเป็นเท็จก็ผิดตาม ก.ม.อาญา ม. 118
ฟ้องว่าจำเลยแจ้งความเท็จ ในวันที่ 15 ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยนำความไปแจ้งในวันที่ 13 ส่วนวันที่ 15 เจ้าพนักงานเรียกตัวไปสอบสวน จำเลยให้ถ้อยคำเท็จอย่างเดียวกัน ถ้อยคำในวันที่ 13 ดังนี้ ลงโทษได้ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำความเท็จมาแจ้งต่อ ร.ต.ต.วรรณ พนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๘ ทางพิจารณาได้ความว่าครั้งแรกนำความเท็จในข้อนี้ไปแจ้งความไว้แต่วันที่ ๑๓ อีก ๒ วันคือวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๘ ร.ต.ต.วรรณ เรียกจำเลยมาสอบสวนในฐานะผู้เสียหายจำเลยให้ถ้อยคำด้วยความเท็จอย่างที่แจ้งความไว้
ปัญหามีว่าจะเรียกว่าฟ้องผิดวันหรือไม่ เพราะวันแจ้งความเป็นวันที่ ๑๓ ส่วนวันที่ ๑๕ เป็นวันสอบสวน
ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า การที่จำเลยให้ถ้อยคำในวันที่ ๑๕ ในฐานะผู้เสียหาย แม้จะเรียกว่าเป็นการให้การหรือให้ถ้อยคำก็ตาม ก็ตกอยู่ในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเหมือนกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่ผิดวันลงโทษจำเลยได้ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำเลย