คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องทุกข์ตามกฎหมายจะต้องเป็นการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
คำแจ้งความของผู้เสียหายที่แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า”จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานและขอรับเช็คคืนไปดำเนินการเอง” นั้น เป็นเพียงแจ้งความไว้เพื่อให้เป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัดสาขาบางลำภู 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 25,000 บาท ให้โจทก์เพื่อชำระหนี้โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลาดพร้าวเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คในวันที่ 3 และ 4 มิถุนายน 2514 ตามลำดับแต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ ปฎิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้ โดยจำเลยร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ วันที่ 10 กรกฎาคม 2514โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน ณ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คำแจ้งความตามรายงานประจำวัน ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2514 ไม่ใช่คำร้องทุกข์ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า การแจ้งความของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ร้องทุกข์” ไว้ว่า”หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ”แต่ปรากฏจากคำแจ้งความตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อความตอนใดที่มีความหมายว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย กลับมีข้อความเพียงว่า “จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานและขอรับเช็คคืนไปดำเนินการเอง” การที่โจทก์แจ้งความไว้เพียงเพื่อให้เป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย เช่นนี้ ถือมิได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย

พิพากษายืน

Share