คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คโดยเจตนาจะให้ผูกพันและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 1 มีมูลหนี้ต่อโจทก์ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายกับจำเลยที่ 3 ผู้สลักหลังจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งทำสัญญาขายลดเช็คให้โจทก์ ก็ได้ให้คำรับรองต่อโจทก์ว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดขึ้นเงินไม่ได้ด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด สาขาหาดใหญ่ เลขที่ ๒๕๔๔๘๖๐ สั่งจ่ายวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๖ จำนวนเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๒ ได้นำเช็คฉบับดังกล่าวมาขายลดเช็คให้แก่โจทก์โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ลงนามสลักหลังประกันจำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่าย ต่อมาวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๖ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด สาขาหาดใหญ่ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ รับเหมาก่อสร้างงานของแขวงการทางราชบุรี โดยกู้เงินโจทก์ไปลงทุน ตกลงกับโจทก์ว่าให้โจทก์รับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างไปจากแขวงการทางนั้นเอง โดยทำใบมอบอำนาจไว้ แขวงการทางทราบข้อตกลงนี้แล้ว โดยเหตุนี้จำเลยที่ ๒ จึงยอมให้ขายเช็คนั้นในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ยอมค้ำประกันเพราะเห็นว่าธนาคารมีข้อตกลงในการรับเงินคืนอยู่แล้ว ต่อมางานรับเหมาก่อสร้างเสร็จ แขวงการทางแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินงวดแรก ๑๕๐,๐๐๐ บาทเข้าบัญชีจำเลยที่ ๑ ส่วนที่เหลือก็หักเงินเกินบัญชีที่กู้ไป โจทก์ไม่ยอมรับเงินจำนวนนั้นเอง ต่อมาเจ้าหน้าที่ใช้อุบายรับเงินไปเองทั้งหมด ทำให้เงินต้องสูญไปเพราะความประมาทเลินเล่อหรือจงใจของโจทก์ จำเลยทั้งสามย่อมพ้นความรับผิด
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็ค
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้ขายเช็คให้โจทก์ ซึ่งเช็คนั้นจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ ๓ เป็นผู้สลักหลัง เพราะโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีข้อตกลงกันว่า เงินที่จำเลยที่ ๑ กู้จากโจทก์ ให้โจทก์ไปรับชำระหนี้จากแขวงการทางราชบุรี ครั้นเมื่อแขวงการทางราชบุรีแจ้งให้โจทก์ไปรับเงิน โจทก์ไม่ยอมไปรับ ดังนี้ แม้จำเลยที่ ๑ จะมีข้อตกลงกับโจทก์ดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คก็โดยเจตนาจะให้ผูกพันและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ ๑ มีมูลหนี้ต่อโจทก์ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายกับจำเลยที่ ๓ ผู้สลักหลังจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้น ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งทำสัญญาขายลดเช็คให้โจทก์ก็ได้รับรองต่อโจทก์ว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดขึ้นเงินไม่ได้ด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษายืน.

Share