แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นการถึงแก่กรรมระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่ศาลได้รายงานผลการส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ว่า ส่งไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว พร้อมทั้งได้เสนอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และดำเนินการเพื่อให้มีคู่ความเข้าแทนที่คู่ความที่ถึงแก่กรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 แล้วส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คืนศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อสั่งเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมและมีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งประการใดตามที่เจ้าหน้าที่ศาลเสนอรายงานผลการส่งหมายแจ้งนัดดังกล่าวและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไป แม้ในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะมีผู้ที่จำเลยทั้งสองเคยแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบฉันทะของจำเลยทั้งสองได้มาฟังคำพิพากษาแทน แต่ศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้วและยังไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยมิได้ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบ ต่อมาเมื่อพ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาได้ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาได้ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่ทายาทของนางกิมตัน รวม 4 ราย จำนวนเงินรายละ 58,000 บาท โดยแบ่งชำระรายละ 6 งวด งวดแรกชำระในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 รายละ 8,000 บาท งวดที่สองและงวดต่อไปชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือนรายละ 10,000 บาท จนกว่าจะครบ โดยนำเงินมาวางศาลทุกงวด หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดทุกงวดทุกรายพร้อมกันทั้งหมด จำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์หรือบุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งบังคับคดีเงินที่ค้างชำระพร้อมกันทุกงวดทุกรายทั้งหมด และบุคคลดังกล่าวจะมอบอำนาจให้บุคคลใดรับเงินแทนก็ได้ หากเป็นกรณีจะยกเงินให้แก่บุคคอื่นจะต้องแถลงต่อศาลด้วยตนเอง เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินครบถ้วนตามที่กำหนด โจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่จำเลยทั้งสองและให้ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาที่โจทก์ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรตำบลกลางดง จังหวัดนครราชสีมา ทันที ต่อมาจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจำนวน 6 งวดโดยงวดแรกเป็นเงิน 8,000 บาท งวดที่สองถึงงวดที่หกเป็นเงินงวดละ 10,000 บาท โดยระบุว่าเป็นการชำระให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 58,000 บาท โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1233 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเรื่องการยึดทรัพย์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้ผู้มีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้บังคับคดีได้ ไม่มีเหตุเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเรื่องยึดทรัพย์ดังกล่าว
ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่งดการบังคับคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเรื่องยึดทรัพย์ดังกล่าว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของงานจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเรื่องการยึดทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2550 ตามสำเนามรณบัตรท้ายคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการถึงแก่กรรมระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่ศาลได้รายงานผลการส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่ศาลได้รายงานผลการส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ว่า ส่งไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว พร้อมทั้งได้เสนอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังนั้น ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และดำเนินการเพื่อให้มีคู่ความเข้าแทนที่คู่ความที่ถึงแก่กรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 แล้วส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คืนศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อสั่งเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมและมีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งประการใดตามที่เจ้าหน้าที่ศาลเสนอรายงานผลการส่งหมายแจ้งจัดดังกล่าวและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไป แม้ในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะมีผู้ที่จำเลยทั้งสองเคยแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบฉันทะของจำเลยทั้งสองได้มาฟังคำพิพากษาแทนแต่ศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว และยังไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยมิได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ต่อมาเมื่อพ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาได้ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งให้ถูกต้องก่อน คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป”
พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับตั้งแต่การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 เป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คืนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และยกฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ