แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า “HALOTRION” ส่วนของโจทก์เป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า “HALOTRON” จึงมีอักษรโรมันที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันถึง 8 ตัว และอยู่ในตำแหน่งเดียวกันแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอักษรโรมัน 4 ตัวแรก คือ HALO กับอักษรโรมัน 2 ตัวสุดท้ายคือ ON เพียงแต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมัน I แทรกอยู่ระหว่างอักษรโรมัน R กับ O เท่านั้น ถือว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์มีรูปลักษณะที่คล้ายกันมาก ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยอ่านออกเสียง 4 พยางค์ ว่า ฮา-โล-ทรี-ออน และเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์อ่านออกเสียง 3 พยางค์ ว่า ฮา-โล-ทรอน แม้จะมีจำนวนพยางค์ที่ออกเสียงต่างกัน แต่เสียงเรียกขาน 2 พยางค์แรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญนั้นเหมือนกัน ถือว่าเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์ก็คล้ายกันมากเช่นกันเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับจำพวกสินค้า และรายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละฝ่ายจะเห็นว่า เป็นสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้า สารหรือน้ำยาที่ใช้ในการดับเพลิงเหมือนกัน ดังนี้ ถือได้แล้วว่า เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRON มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า HALONITE และ HALOTRION ทั้งจำเลยประกอบธุรกิจชนิดเดียวกับโจทก์ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนแล้ว และบริษัทในเครือของจำเลยเคยสั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยเคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ทำให้จำเลยคิดใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRION อนึ่ง การที่สารฮาลอน HALON เป็นคำสามัญที่บุคคลทั่วไปอาจใช้ได้ ก็ไม่ทำให้จำเลยอาจนำไปใช้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ รวมทั้งข้ออ้างที่ว่าการใช้เครื่องหมายการค้า HALOTRION เป็นเพราะมีการใช้สารประกอบ 3 ชนิด จำเลยก็ไม่สมควรที่จะทำให้เครื่องหมายการค้าของตนคล้ายกับของโจทก์เช่นนี้ จึงรับฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า HALOTRON ดีกว่าจำเลย และเมื่อคดีรับฟังมาแล้วว่า เครื่องหมายการค้า HALOTRION ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า HALOTRON ของโจทก์ จึงรับฟังต่อไปได้ด้วยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า HALOTRION ดีกว่าจำเลย
คดีนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 16 ซึ่งจำเลยไม่ได้คัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในส่วนนี้ ประกอบกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจถูกคัดค้านในสาเหตุอื่นๆ ได้ โจทก์จึงไม่อาจห้ามจำเลยคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยเองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 54 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ดีกว่าจำเลย ห้ามมิให้จำเลยคัดค้านหรือขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์ ให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ตามคำขอเลขที่ 499413 ทะเบียนเลขที่ ค 177965 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการเพิกถอนการจดทะเบียน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ดีกว่าจำเลย และห้ามจำเลยคัดค้านหรือขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTIRON” ตามคำขอเลขที่ 499413 ทะเบียนเลขที่ ค 177965 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้นำนายชวลิตเข้าเบิกความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา และโจทก์ได้แต่งตั้งให้พยานเป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีแก่จำเลย โดยโจทก์มีเอกสารที่มีข้อความตรงตามที่นายชวลิตเบิกความมานำสืบสนับสนุน ซึ่งเอกสารนี้มีโนตารีปับลิกแห่งมลรัฐเนวาด้า, ประจำเทศมณฑลคลาค ลงลายมือชื่อรับรอง กับมีเลขาธิการแห่งมลรัฐเนวาด้า, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเลขานุการโทสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ลงลายมือชื่อรับรองด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยในพยานเอกสารดังกล่าว จำเลยเองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงฟังได้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยไม่จำต้องนำผู้ทำเอกสารดังกล่าวมาสืบประกอบตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์หรือไม่ ซึ่งการพิจารณาปัญหานี้ต้องพิจารณาจากรูปลักษณะและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า “HALOTRION” ส่วนของโจทก์เป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า “HALOTRON” จึงมีอักษรโรมันที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันถึง 8 ตัว และอยู่ในตำแหน่งเกียวกันแทนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอักษรโรมัน 4 ตัวแรก คือ “HALO” กับอักษรโรมัน 2 ตัวสุดท้าย คือ “ON” เพียงแต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมัน “I” แทรกอยู่ระหว่างอักษรโรมัน “R” กับ “O” เท่านั้น ซึ่งความคล้ายกันเช่นนี้ ทำให้เป็นการยากแก่สาธารณชนแม้จะเป็นผู้ที่มีความรู้หรือคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษก็ตาม ในการที่จะสังเกตเห็นได้ถึงความแตกต่างนั้น หากไม่ได้พินิจพิเคราะห์ให้ดี โดยเฉพาะแบบของตัวอักษรก็เป็นลักษณะเดียวกันถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์มีรูปลักษณะที่คล้ายกันมาก ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ของจำเลยอ่านออกเสียง 4 พยางค์ ว่า “ฮา-โล-ทรี-ออน” และเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์อ่านออกเสียง 3 พยางค์ ว่า “ฮา-โล-ทรอน” แม้จะมีจำนวนพยางค์ที่ออกเสียงต่างกัน แต่เสียงเรียกขาน 2 พยางค์แรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญนั้นเหมือนกัน ถือว่าเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์ก็คล้ายกันมากเช่นกัน เมื่อพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับจำพวกสินค้าและรายการสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าของแต่ละฝ่าย จะเห็นว่าเป็นสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้า สารหรือน้ำยาที่ใช้ในการดับเพลิงเหมือนกัน ดังนี้ถือได้แล้วว่า เครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์ สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งในทำนองว่า การใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยและโจทก์ที่ปรากฏต่อสาธารณชนมีความแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะใช้ประกอบกับคำว่า “NIPPON” บุคคลทั่วไปจะไม่สังเกตเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “NEWSTAR HALOTRION” และมีปริมาณการจำหน่ายเป็นจำนวนมากนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ดีกว่าจำเลยหรือไม่ โดยอุทธรณ์ในทำนองว่าจำเลยคิดเครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ขึ้นเองโดยสุจริต ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากโจทก์ และคิดมาก่อนที่โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้า “HALOTRON” แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายดิลก และนายชวลิต เบิกความประกอบพยานหลักฐานต่างๆ คือ เอกสารซึ่งแสดงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาตั้งแต่ปี 2536 และเอกสารซึ่งแสดงว่ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ผ่านทางสื่อต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและมีตัวแทนจำหน่ายในนานาประเทศ สำหรับประเทศไทยมีการส่งน้ำยาดับเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้า “HALOTRON” หรือ “HALOTRON I” เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า บริษัทแอนตี้ไฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยได้เคยสั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในขณะที่จำเลยมีนายธนกิจ มาเบิกความว่า จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTRION” เมื่อปี 2545 และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า มีการคิดค้นสารซึ่งใช้ทดแทนสารเคมีฮาลอนได้เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนเครื่องหมายการค้า “HALONITE” นั้น ข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.3 แสดงว่าจดทะเบียน ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2542 ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า “HALOTRON” มาก่อนจำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้า “HALONITE” และ “HALOTRION” ทั้งจำเลยประกอบธุรกิจชนิดเกียวกับโจทก์ ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนแล้วและบริษัทในเครือของจำเลยเคยสั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นไปได้ว่า จำเลยเคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน ทำให้จำเลยคิดใช้เครื่องหมายกาค้า “HALOTRION” อนึ่ง การที่สารฮาลอน “HALON” เป็นคำสามัญที่บุคคลทั่วไปอาจใช้ได้นั้น ก็ไม่ทำให้จำเลยอาจนำไปใช้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ รวมทั้งข้ออ้างที่ว่าการใช้เครื่องหมายการค้า “HALOTRION” เป็นเพราะมีการใช้สารประกอบ 3 ชนิด จำเลยก็ไม่สมควรที่จะทำให้เครื่องหมายการค้าของตนคล้ายกับของโจทก์เช่นนี้ จึงรับฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องมหายการค้า “HALOTRON” ดีกว่าจำเลย และเมื่อคดีรับฟังมาแล้วว่าเครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์ จึงรับฟังต่อไปได้ด้วยว่า โจทก์สิทธิในเครื่องหมายการค้า “HALOTRION” ดีกว่าจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้รับฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์อื่นๆ ของจำเลยและโจทก์อีกต่อไปเพราะเป็นเพียงข้อปลีกย่อย ทั้งไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ห้ามจำเลยคัดค้านหรือขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ซึ่งจำเลยไม่ได้คัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในชั้นนี้แต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในส่วนนี้ ประกอบกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจถูกคัดค้านในสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน โจทก์จึงไม่อาจห้ามจำเลยในลักษณะที่เป็นการตัดสิทธิของจำเลยเช่นนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยเองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้ห้ามจำเลยคัดค้านหรือขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “HALOTRON” ของโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ