คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าหน้าอาคารตึกแถวชั้น 2 ถึงชั้น 4 เลขที่ 2777, 2779, 1295, 1291, 1291/1, 1293 และ 1293/1 จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาสินค้า นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 เป็นต้นไป และได้มีการต่ออายุสัญญาเช่ากันเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2536 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2535 เพื่อต่อระยะเวลาเช่าตามสัญญาเช่าดังกล่าวไปอีกมีกำหนด 6 เดือน โดยจะครบกำหนดระยะเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 และโจทก์จะชำระค่าเช่าเดือนละ 125,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงต่อสัญญาเช่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2536 ซึ่งโจทก์ได้มอบเงิน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือไว้เป็นประกันค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่เช่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงว่าจะคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าและโจทก์ได้รื้อถอนป้ายโฆษณาออกไปเรียบร้อยแล้วโดยมิได้ค้างชำระเงินใดๆ หรือมิได้ทำความเสียหายแก่สถานที่เช่าหรือผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และหมายเลข 8 เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าวันที่ 31 มีนาคม 2537 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเช่าสถานที่เช่าดังกล่าวอีกพร้อมกับได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณากับโครงเหล็กออกไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2537 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คืนเงินประกัน 300,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลายครั้งแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 เป็นต้นไป คิดเป็นดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง 163,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 463,750 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 463,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และทำสัญญาเช่ากับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันให้โจทก์ตามฟ้อง เพราะเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 แล้ว โจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากสถานที่เช่า แต่โจทก์เจรจาขอต่อสัญญาเช่าไป 3 เดือน โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 หักค่าเช่าจากเงินประกันดังกล่าว และเมื่อครบกำหนดแล้ว โจทก์ก็ยังไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาดังกล่าวออกไปตามสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทำการรื้อถอนแล้ว โจทก์จึงรื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาเท่านั้น แต่ไม่รื้อถอนโครงสร้างเหล็กออกไปจนถึงปัจจุบัน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาการที่โจทก์ไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าตามเอกสารท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 7 และหมายเลข 8 ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิปรับโจทก์รายวัน วันละ 4,000 บาท จนกว่าจะรื้อถอน หากคำนวณค่าปรับเพียง 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ค่าปรับก็มากกว่า 800,000 บาท จำเลยที่ 1 เห็นว่ามีเงินประกันอยู่จำนวน 300,000 บาท จึงนำไปหักชำระค่าเช่าทั้งหมดนับแต่เดือนเมษายน 2537 โดยมิได้ฟ้องร้องค่าปรับจากโจทก์อีก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินประกันคืนจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 163,750 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ยอมรื้อถอนป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาดังกล่าวออกไปจากที่เช่าเมื่อครบกำหนดสัญญาในวันที่ 31 มีนาคม 2537 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกันค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่เช่า โดยอ้างว่าภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 โจทก์ได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกัน 300,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 โจกท์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเช่า คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นคำให้การที่ ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดีและจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การของจำเลยที่ 1 ในตอนหลังที่อ้างว่า โจทก์เจรจาขอต่อกำหนดเวลาเช่าออกไปอีก 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดสัญญาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 โดยยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินค่าเช่าจากโจทก์ที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันนั้น เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่า เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 แล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เพราะเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ ส่วนคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันชำระเป้นค่าปรับรายวัน วันละ 4,000 บาทนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าการที่โจทก์ไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาดังกล่าวออกเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และหมายเลข 8 จำเลยที่ 1 มีสิทธิปรับโจทก์รายวัน วันละ 4,000 บาท จนกว่าโจทก์จะรื้อถอน หากคำนวณค่าปรับเพียง 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าก็มากกว่า 800,000 บาท เกินกว่าเงินประกัน 300,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องคืนเงินประกันจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 การที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 หรือไม่ โดยไม่วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ในประเด็นที่ว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 โจทก์ได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าแล้วหรือไม่ เห็นว่า นางรัตนา ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทเอ็น.แอด จำกัด ดำเนินการติดตั้งและรื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาในสถานที่เช่าตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 ขัดแย้งกับคำของนางสุทธินี กรรมการผู้จัดการบริษัทเอ็น. แอด จำกัด ที่เบิกความว่า เอกสารหมาย จ.20 เป็นใบเสร็จรับเงินเฉพาะค่าผ้าใบที่ทำเป็นแผ่นป้ายโฆษณามิได้รวมถึงค่ารื้อถอนแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่โครงสร้างที่ติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวมีขนาดใหญ่น้ำหนักมาก และเชื่อมต่อติดกับผนังของอาคารตึกแถว การรื้อถอนเห็นได้ชัดว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนจำนวนมาก แต่โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน ทั้งหากโจทก์รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้วก็น่าเชื่อว่าโจทก์จะเรียกร้องเงินประกัน 300,000 บาท คืนจากจำเลยที่ 1 มิใช่ปล่อยเวลาล่วงเลยไปแล้วถึง 7 ปีเศษ หลังจากเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไปแล้วเพิ่งมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 คำเบิกความของนางรัตนากับนางสุทธินีพยานโจทก์ที่ว่าได้มีการรื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2537 นั้น จึงเป็นคำเบิกความกล่าวอ้างอย่างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือแม้โครงสร้างเหล็กที่ติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาตามภาพถ่ายหมาย ล.1 จะมีขนาดสูงกว่าอาคารและตึกแถวซึ่งผิดไปจากรูปแบบแนบท้ายสัญญาเช่า แต่ก็เชื่อว่าผู้เช่ารายใหม่ที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าได้ต่อเติมไปจากโครงสร้างเดิมที่โจทก์ไม่ยอมรื้อถอนออกไปตามสัญญาเช่าดังคำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 นางพัลลภา และคุณหญิงกานดา พยานจำเลยที่เบิกความยืนยันต่อศาล พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เมื่อครบกำหนดสัญาเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2537 โจทก์ได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาออกจากที่เช่า จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิปรับโจทก์เป็นรายวัน วันละ 4,000 บาท ตมสัญญาเช่าจนกว่าโจทก์จะรื้อถอนออกไปจากที่เช่า การที่โจทก์มิได้รื้อถอนและปล่อยปละละเลยตลอดมา ลำพังเงินค่าประกันที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ยังไม่เพียงพอชำระค่าปรับดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกันแก่โจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นเช่นกัน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาที่ว่าโจทก์ขอต่อกำหนดเวลาเช่าออกไปอีก 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดสัญญาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 โดยยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินค่าเช่าจากเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันหรือไม่ ย่อมไม่เป็นสาระแก่คดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share