แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองและมีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาเข้ากับข้อกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจำนองจริงเพียงแต่อ้างว่าเป็นหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อในโฉนดหาใช่สัญญาจำนองไม่ จึงไม่มีข้อเท็จจริงในประเด็นเรื่องลายมือชื่อในช่องผู้จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกขึ้นวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาจำนองลายมือชื่อในช่องผู้รับจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่มีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 2 เพราะหากมีประเด็นนี้ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 อาจนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ได้ การที่จะยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยเองจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการจำนองเฉพาะที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 714 นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิริบเงินค่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วและสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 4 แปลง ระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ให้ถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ริบเงินมัดจำจำนวน 3,485,000 บาท โจทก์ที่ 2 ริบเงินมัดจำจำนวน 1,985,000 บาท ได้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 168898, 168180 เลขที่ดิน 2281, 2284 ตำบลบางกร่าง (บางข่า) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ตามหนังสือสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองได้ขายที่ดินของตนตามโฉนดเลขที่ 168898, 168180 และ 168899, 168181 ในราคา 16,820,000 บาท และ 19,250,000 บาท ตามลำดับให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้หม่อมหลวงนพฤทธิ์ นางกฤษณา และนางสาวบุญส่ง ได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 กับผู้ขายทั้งหมดนัดจดทะเบียนซื้อขายและชำระเงินค่าที่ดินในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 ในวันนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ขายคนอื่นจดทะเบียนซื้อขายแล้ว ส่วนที่ดินของโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายกัน แต่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมโดยโจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง กับจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ทั้งสองใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น และที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับที่ดินที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาในวันนั้นทั้งหมดได้จดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ 2 ไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงได้ริบมัดจำจำนวน 3,485,000 บาท และ 1,985,000 บาท ตามลำดับของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับจำนองที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้โดยไม่สุจริต คดีสำหรับโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่าง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าตามหนังสือสัญญาจำนองของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลายมือชื่อในช่องผู้จำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่มีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 การจำนองเฉพาะที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 714 ขึ้นวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องเกี่ยวกับหนังสือสัญญาจำนองไว้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 เจรจากับโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาจากบุคคลภายนอกและให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 16 ถึง 17 นาฬิกา สำนักงานที่ดินกำลังจะปิดทำการและจำเลยที่ 1 เร่งให้โจทก์ทั้งสองรีบลงชื่อในหนังสือยินยอมถือเป็นช่วงเวลาที่รีบเร่งและฉุกละหุก โจทก์ทั้งสองเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ไม่ค่อยได้อ่านและเขียนหนังสือ และเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อในโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 จึงลงชื่อในหนังสือยินยอมไป เพิ่งทราบภายหลังว่าเป็นสัญญาที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 2 สัญญาจำนองจึงเกิดขึ้นโดยโจทก์ที่ 1 สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์ที่ 1 เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองและมีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาเข้ากับข้อกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจำนองจริง เพียงแต่อ้างว่าเป็นหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อในโฉนดหาใช่สัญญาจำนองไม่ จึงไม่มีข้อเท็จจริงในประเด็นเรื่องลายมือชื่อในช่องผู้จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกขึ้นวินิจฉัยว่าตามหนังสือสัญญาจำนอง ลายมือชื่อในช่องผู้รับจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่มีการมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองแทนโจทก์ที่ 1 จึงเป็นธรรมต่อจำเลยที่ 2 เพราะหากมีประเด็นนี้ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 อาจจะนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ได้ การที่จะยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยเองจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการจำนองเฉพาะที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 714 นั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วข้ออ้างประการอื่นๆ ในฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท