คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพราะจำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายความชำรุดบกพร่องของห้องน้ำว่าส้วมชักโครกใช้การไม่ได้ ใช้ห้องน้ำแล้วมีน้ำขังไม่สามารถระบายน้ำลงท่อระบายน้ำได้ก็เป็นการฟ้องเรื่องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่ส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาซึ่งจะต้องบังคับ อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 แต่เป็นกรณีต้องบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,760,352 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป กับให้จำเลยโอนมิเตอร์ไฟฟ้าเครื่องเลขที่ ษ/161-166087 เป็นชื่อโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายถูกต้องครบถ้วน จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเพราะโจทก์พอใจในราคาที่ซื้อขายและตกลงให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ทันที จำเลยดำเนินการติดตั้งธรณีประตูจำนวน 88 ห้อง ตามบันทึกข้อตกลงลงวันที่ 25 ธันวาคม 2540 เสร็จแล้ว แต่โจทก์ไม่พอใจจึงรื้อออก จำเลยชำระค่าลิฟต์ให้แก่ผู้ขายครบถ้วนแล้วและไม่ต้องติดตั้งระบบสำรองไฟฟ้าในลิฟต์เพราะมีระบบสำรองไฟฟ้าในตัวอยู่แล้ว โจทก์ตกลงว่าจะติดตั้งระบบคีย์การ์ดเองเพราะจำเลยลดราคาอาคารที่ซื้อขายให้แล้ว จำเลยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องอัดอากาศทางหนีไฟพร้อมอุปกรณ์และไฟฉุกเฉินอัตโนมัติไม่มีในบันทึกข้อตกลง ขณะส่งมอบอาคารเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 โจทก์พอใจในสภาพทรัพย์สิน ทั้งได้ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าย่อยและสภาพห้องน้ำแล้ว อย่างไรก็ตามคดีขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่พบเห็นความชำรุดบกพร่อง ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินประกันจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้องและขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 444,622 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องวัดไฟฟ้าเลขที่ ษ/161-166087 เป็นชื่อโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 294,623 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ โจทก์มิได้แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพร้อมเฟอร์นิเจอร์กับจำเลยในราคา 25,750,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขายและบันทึกต่อท้ายสัญญาโดยตกลงกันว่าจำเลยจะก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนก่อสร้าง (พิมพ์เขียว) ให้เสร็จภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2540 เพื่อส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารให้แก่โจทก์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2540 จำเลยก่อสร้างอาคารไม่เสร็จตามกำหนด โจทก์จำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 โดยตกลงกันว่าจำเลยจะทำการก่อสร้างอาคารให้เสร็จพร้อมใช้งานได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำบันทึก จำเลยยอมให้โจทก์หักเงินประกันความเสียหาย 500,000 บาท และโจทก์จะคืนให้ 100,000 บาท เมื่อจำเลยส่งมอบเฟอร์นิเจอร์กับติดตั้งโทรศัทพ์เรียบร้อย เมื่อก่อสร้างอาคารเสร็จจะคืนเงินที่เหลือให้ในวันที่ 20 มกราคม 2541 ได้บันทึกรายการและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเลยรับจะดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว และมีข้อตกลงด้วยว่าหากฝ่ายใดผิดสัญญายอมให้ปรับเป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2540 จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ชำระเงินที่เหลือ 24,150,000 บาท ให้แก่จำเลยโดยโจทก์หักเงินไว้ 600,000 บาท เป็นเงินประกันความเสียหาย 500,000 บาท อีก 100,000 บาท เป็นเงินช่วยค่าหม้อแปลงไฟฟ้าแก่โจทก์ ในวันเดียวกันโจทก์จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายและค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่เห็นควรแยกวินิจฉัยแต่ละรายการ ดังนี้
การติดตั้งธรณีประตู เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายและบันทึกต่อท้ายสัญญาได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 1.3 ว่า ทรัพย์สินที่จะซื้อจะขายมีเฟอร์นิเจอร์และทรัพย์สินอื่นๆ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกต่อท้ายสัญญานี้และบันทึกต่อท้ายสัญญาข้อ 15 ระบุไว้ว่าติดตั้งธรณีประตูจำนวน 88 ห้อง จำเลยจึงมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องติดตั้งธรณีประตูจำนวน 88 ห้อง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ทำธรณีประตู จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาข้อนี้และต้องร้บผิดใช้ค่าเสียหายจำนวน 28,200 บาท ที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า การติดตั้งธรณีประตูไม่มีในแบบแปลนก่อสร้างจำเลยจึงไม่ต้องทำนั้นจำเลยให้การและฟ้องแย้งแต่เพียงว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบค่าติดตั้งธรณีประตูเนื่องจากจำเลยได้ว่าจ้างช่างและซื้ออุปกรณ์มาดำเนินการแล้ว แต่โจทก์สั่งให้รื้อและไม่ยอมให้ช่างเข้าไปทำงาน ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเช่นกัน จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
การติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าในลิฟต์ เห็นว่า เครื่องสำรองไฟฟ้าในลิฟต์ได้ระบุไว้ในข้อ 4 ของสัญญาจะซื้อจะขาย ทั้งยังได้ระบุไว้ในบันทึกต่อท้ายสัญญา ข้อ 1 (1) ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าในลิฟต์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าในลิฟต์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าเครื่องสำรองไฟฟ้าในลิฟต์ไม่มีความจำเป็น และบันทึกต่อท้ายสัญญา ข้อ 1 (1) มีการขีดฆ่าคำว่าพร้อมเครื่องสำรองไฟฟ้าทิ้งแล้ว แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามบันทึกในข้อนี้นั้น ไม่ปรากฏว่ามีการขีดฆ่าข้อความตามที่อ้างมาในฎีกา และจำเลยก็เบิกความรับว่าไม่มีการขีดฆ่าข้อความดังกล่าว ทั้งจำเลยก็ไม่อาจจะอ้างความจำเป็นในการติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าในลิฟต์หรือไม่มาปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาได้
การติดตั้งระบบคีย์การ์ดพร้อมใบคีย์การ์ด เห็นว่า การติดตั้งระบบคีย์การ์ดและใบคีย์การ์ด จำนวน 100 ใบ ได้ระบุไว้ในข้อ 4 ของสัญญาจะซื้อจะขาย และในข้อ 1 (5) ของบันทึกต่อท้ายสัญญา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องติดตั้งระบบคีย์การ์ดพร้อมด้วยใบคีย์การ์ด จำนวน 100 ใบ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยยังไม่ได้ติดตั้งระบบคีย์การ์ดพร้อมใบคีย์การ์ด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ติดตั้งระบบคีย์การ์ดพร้อมใบคีย์การ์ดจำนวน 100 ใบ ให้แก่โจทก์แล้วนั้น จำเลยนำสืบลอยๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ
การซ่อมแซมห้องน้ำ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์และนายปรีชา สามีและผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า ห้องน้ำใหญ่ 5 ห้อง และห้องน้ำเล็ก 55 ห้อง ไม่สามารถใช้การได้เพราะการวางหัวชักโครกไม่ตรงกับท่อกำจัดของเสีย และท่อพักน้ำทิ้งมีเศษปูนซีเมนต์ขาวอุดตันเป็นเหตุให้น้ำทิ้งไม่สามารถระบายได้ ต้องจ้างซ่อมเป็นเงิน 256,300 บาท ทั้งโจทก์ยังได้ส่งใบเสนอราคาและภาพถ่ายเป็นพยานเอกสารและพยานวัตถุด้วย ตามใบเสนอราคามีรายการซ่อมแซมห้องน้ำใหญ่ 5 ห้อง ห้องเล็ก 55 ห้อง โดยสกัดพื้นเจาะรูต่อท่อให้ตรงรูส้วมชักโครก สกัดกระเบื้องพื้น เทพื้น ปูกระเบื้องพื้นใหม่ ขยับรูน้ำทิ้งให้เข้ามุมกันน้ำขังและตามภาพถ่ายปรากฏให้เห็นว่าห้องน้ำชำรุด ส้วมชักโครกใช้การไม่ได้โดยน้ำไม่ลงท่อกำจัดของเสีย แต่ไหลออกมาจากส้วมชักโครก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยสร้างห้องน้ำดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดี ไม่ถูกต้องตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่า การซ่อมแซมห้องน้ำโจทก์ทำเพื่อความสวยงามและไม่จำต้องใช้เงินจำนวนมากตามฟ้องนั้น ตามภาพถ่ายเห็นได้ชัดเจนว่า ห้องน้ำใช้การไม่ได้และตามใบเสนอราคาก็ระบุว่าซ่อมแซมเพื่อให้ส้วมชักโครกใช้การได้และให้น้ำระบายได้ดีไม่ท่วมขังที่พื้น ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
สำหรับค่าปรับนั้น ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 มีข้อตกลงให้ปรับผู้ผิดสัญญาตามข้อตกลงเป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงนอกจากจะต้องใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยยังต้องชำระค่าปรับตามข้อตกลงอีกส่วนหนึ่งด้วย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้ 30,000 บาท ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชำระจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพราะจำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายความชำรุดบกพร่องของห้องน้ำว่าส้วมชักโครกใช้การไม่ได้ใช้ห้องน้ำแล้วมีน้ำขังสามารถระบายน้ำลงท่อระบายน้ำได้ ก็เป็นการฟ้องเรื่องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ถูกต้องตรงตามสัญญาไม่ใช่กรณีฟ้องว่า ทรัพย์สินที่ส่งมอบชำระรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งโดยสัญญาซึ่งจะต้องบังคับอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ตามที่จำเลยฎีกา แต่เป็นกรณีต้องบังคับอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share