คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าพิพาทซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เมื่อเวลา 23 นาฬิกา การที่จำเลยที่ 2 ให้รถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทออกเดินทางในเวลากลางคืนต่อเนื่องจากเวลาที่รับมอบสินค้าพิพาท โดยพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทไปตามทางหลวงซึ่งจัดไว้เป็นทางสัญจรสาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการขนส่งด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่สินค้าพิพาทสูญหายเพราะถูกโจรกรรมในระหว่างสัญจรบนทางหลวงจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันขัดขวางได้ และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,325,909.96 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,252,315 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่สินค้าพิพาทถูกโจรกรรมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้แม้จะใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลวันนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า สินค้าพิพาทถูกโจรกรรมอันเป็นเหตุสุดวิสัยต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด เห็นว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นจะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลนั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้ผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ข้อเท็จจริงตามรายงานประจำวันปรากฏว่า รถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทถูกคนร้าย 4 คน ซึ่งมีขวาน 2 เล่ม เป็นอาวุธใช้รถยนต์บังคับให้รถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทจอด บังคับให้พนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ลงจากรถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาท แล้วคนร้ายขับรถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทหลบหนีไป การที่รถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทถูกโจรกรรมเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสองหรือพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมรับขนสินค้าพิพาทเพื่อบำเหน็จเป็นการค้าปกติของตนจะต้องร่วมรับผิดในการที่สินค้าพิพาทสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าพิพาทซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเวลา 23 นาฬิกา การที่จำเลยที่ 2 ให้รถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทออกเดินทางในเวลากลางคืนต่อเนื่องจากเวลาที่ได้รับมอบสินค้าพิพาทโดยพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทไปตามทางหลวงซึ่งจัดไว้เป็นทางสัญจรสาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการขนส่งด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่สินค้าพิพาทสูญหายเพราะถูกโจรกรรมในระหว่างสัญจรบนทางหลวงจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันขัดขวางได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพยสินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share